ทั่วโลกช่วยเหลือศิลปินอิสระกันอย่างไรบ้าง ?

ช่วง 2 ปีนี้ผมซึ่งทำงานดนตรีอยู่สัมผัสได้ถึงเพื่อนๆที่ทำอาชีพอิสระทางด้านศิลปะรู้สึกท้อแท้ บางคนสิ้นหวัง

ลำพังการทำงานด้านศิลปะนั้นที่ผ่านมาหลายคนก็พยายามพิสูจน์ตัวเองมาหลายปีทั้งจากครอบครัวและสังคม การถูกเหมารวมกลายเป็นจำเลยสังคมในการแพร่เชื้อทั้งที่้ไม่เคยมีคลัสเตอร์ออกมาจากกลุ่มนี้ และการได้รับผลกระทบสูงสุดถ้าเทียบกับในทุกสายอาชีพมันทำให้หลายคนทบทวนอยู่เงียบๆว่าเราผิดอะไร 

ถ้าถอยออกมาดูกว้างๆ จะรู้ว่า เราไม่ได้ผิดอะไรเลย แค่ดันโชคไม่ดีที่อยู่ผิดที่เท่านั้นเอง หากรัฐมีสวัสดิการสังคมที่ดี มีสิ่งรับประกันการทำงานทางปัญญาสาธารณะ มีผู้นำที่เห็นศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน พวกเราจะไม่ต้องแบกรับภาระไว้แบบที่เป็นอยู่

หลายๆรัฐของอเมริกา มีแคมเปญช่วยเหลือกลุ่มนักดนตรีอยู่

ในที่อื่นๆมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาอาชีพศิลปินที่เวลานี้ถูกกระทบมากที่สุด  ความแตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศยังไม่อยากพัฒนาคือการให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ของประชาชนในการพัฒนาสังคมขั้นสูงขึ้นไป ประเทศเหล่านั้นพยายามรักษาพวกเขาไว้เพื่อให้ทำงานขับเคลื่อนสังคมต่อได้

การช่วยเหลือศิลปินและผู้สร้างสรรค์งานวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ

ฝรั่งเศส

ปธน.เอ็มมานูเอล มาครง เป็นคนแรกที่ประกาศความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับภาคศิลปะวัฒนธรรมและความบันเทิง ซึ่งอังกฤษรีบทำตามอย่างรวดเร็ว  มีการขยายการช่วยเหลือสำหรับนักแสดงนักดนตรีและช่างเทคนิคที่ว่างงานลงแคมเปญปกป้องคนทำงานด้านศิลปะ รับประกันรายได้รายเดือนตลอด 12 เดือนโดยสร้างงานคนละ 500 ชั่วโมงตลอดช่วงเวลาเพื่อช่วยรักษาอุตสาหกรรมทางศิลปะวัฒนธรรมทั่วประเทศ นอกจากนี้กรุงปารีสเองยังสนับสนุนศิลปินในเมืองอีก 15ล้านยูโร

มาครงยังประกาศให้ความช่วยเหลือศิลปินกลุ่มเล็กที่จัด Art Festival, production house ขนาดเล็กเป็นเงิน 7000 ล้านยูโร , ช่วยค่ายกเลิกโชว์ต่างๆ ค่ายกเลิกกองถ่าย และยังตั้งศูนย์ดนตรีแห่งชาติ ลงทุน 50ล้านยูโรเพิ่มด้วย

อังกฤษ

รัฐบาลให้เงินถึง 2.1 พันล้านเหรียญ ช่วยเหลือทั้งคลับ,โรงละคร สถานที่แสดงดนตรีตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และปลายปีสนับสนุนงานวัฒนธรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นมิวเซียมและบริษัทต่างที่ทำงานศิลปะ มีแพคเกจเงินกู้ระยะยาวให้ เว็บไซต์สหภาพนักดนตรีมีสรุปแหล่งช่วยเหลือไว้เยอะมากๆ แล้วก็ยังมีอีกทั้งจาก Arts Council England ,Arts Council of Wale,COVID-19 Film and TV Emergency Relief Fund,The Society of Authors Fund รวมถึง Arts Council of Northern Ireland ที่เน้นให้เงินช่วยเหลือศิลปินหูหนวกและทุพพลภาพ

อังกฤษมีแคมเปญช่วยเหลืองานด้านวัฒนธรรมหลายรอบแล้ว

เยอรมัน

รัฐให้เงิน 1.2พันล้านเหรียญ (ประมาณ 38,146 ล้านบาท) ผลักดันให้สถานที่ต่างๆที่จัดการแสดงกลับมาเปิดได้เร็วที่สุดรัฐช่วยเหลือแม้กระทั่งการติดตั้งระบบระบายอากาศให้สถานที่ต่างๆ โดย รมต.วัฒนธรรม Monika Grütters กล่าวว่าการช่วยเหลือ infrastructure ทางวัฒนธรรม เป็นหนทางที่จะทำให้ศิลปินและผู้สร้างสรรค์ศิลปะสามารถกลับมาทำงานได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพราะคนเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจถึง ร้อยเท่าของเงินที่ช่วยเหลือในอนาคต  นอกจากนี้ยังมีโครงการช่วยเหลือมูลค่า 1พันล้านปอนด์อีกต่างหากและลดภาษีศิลปะอีกด้วย

เยอรมัน รมต.วัฒนธรรม Monika Grütter ‘I Will Not Let Them Down’

แคนาดา

นายก จัสติน ทรูโด กล่าวว่าในช่วงเวลาที่มืดมนนี้เราต้องการให้ศิลปินยังคงทำงานสร้างความฝันให้กับเรา  We need our artists to continue to make us dream, particularly in dark times และรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 500ล้านเหรียญแคนาดา หรือประมาณ 13,010 ล้านบาท 

นิวซีแลนด์

รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 268 ล้านเหรียญ ตลอด 4 ปี เพื่อคนกลุ่มศิลปะและดนตรี เนื่องจากเป็นกลุ่มสุดท้ายจะสามารถกลับมาสู่สถานการณ์ปกติได้ นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวว่า งานทางวัฒนธรรมมีผลกระทบเชิงบวกมากมายต่อส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดของนิวซีแลนด์ยังรวมไปถึงความพยายามทำให้กลุ่มผู้สร้างสรรค์มีงานที่ยั่งยืน สำหรับกลุ่มนักดนตรียังได้เงินโดยเฉพาะอีก 3.5ล้านเหรียญ มีเงินสนับสนุนการสร้างผลงานต่ออีก 7.2 ล้านเหรียญ 

ไอร์แลนด์

ให้เงินช่วยเหลือกลุ่มศิลปินที่ว่างงาน 20 ล้านปอนด์ (ประมาณ 892 ล้านบาท) แองเจล่า ดอร์แกน ประธานของ National Campaign for the Arts ได้ออกมาเตือนให้สังคมระวังความเสียหายจากการที่คนเลิกทำงานศิลปะ มีการให้เงินศิลปินทันที 500 ยูโรจาก Civic Counlcil

สเปน 

รัฐมนตรี วัฒนธรรม โฆเซ่ มานูเอล โรดริเกซ อูริเบ กล่าวว่า ต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ด้านหลัง โดยเฉพาะภาคส่วนทางวัฒณธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยได้มีนโยบายออกเงินช่วยเหลือศิลปินโดยตรง 76 ล้านปอนด์ และยังช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการพักชำระหนี้อีกถึง 780 ล้านปอนด์ 

อิตาลี

ถ้าจำกันได้มีคลิปไวรัลสร้างความสุขให้คนทั่วโลกในวันที่อิตาลีล็อคดาวน์ผ่านการแสดงดนตรีบนระเบียง Music represented a way to overcome the fear, difficulty and solitude ดนตรีเป็นตัวแทนของหนทางที่จะเอาชนะความกลัว ความยากลำบาก และความโดดเดี่ยว  รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือนักแสดงสาธารณะประมาณ  9,348 ล้านบาท เพื่อรักษาความมีชีวิตชีวาของประเทศในระดับวัฒนธรรมอีกด้วย 

สหรัฐอเมริกา

นอกจากการออกเงินช่วยเหลือ Culteral Venue ต่างๆถึง 15,000ล้านเหรียญ การช่วยเหลือประชาชนก็มีเต็มไปหมด พื้นฐานคือหลายคนได้เงินช่วยเหลือ $600 ต่อสัปดาห์หากมีหลักฐานการเสียภาษีมาก่อน สำหรับนักดนตรีมีโครงการ Music Covid Relief อีกด้วยโดยเฉพาะ โดยคนที่ทำรายได้น้อยกว่า $75,000 ต่อปีหลายคนสามารถรับเงิน $1,400 ได้ และ $1,400 สำหรับลูกของเขาด้วย โดยไม่ต้องไปกดแย่งสิทธิกับใคร ลองดูรายละเอียดรอบล่าสุดที่นี่

เกาหลีใต้

รัฐบาลให้เงินศิลปินอิสระและกิจการท่องเที่ยวขนาดเล็กเป็นเงิน 298.5 พันล้านวอน (ประมาณ 8,482.5 ล้านบาท) โดยเกือบครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนี้ให้แก่ Content Creator รัฐมนตรีวัฒนธรรมของเกาหลีกล่าวว่า เราหวังว่าจะช่วยดูแลธุรกิจบันเทิงขนาดเล็กจากผลกระทบของโควิด19นี้ 

ออสเตรีย

รัฐบาลให้เงิน 90ล้านยุโร แก่ศิลปินฟรีแล้นซ์ คิดเป็นตัวเงินคือให้คนละ 1000 ยูโรในช่วงหกเดือน รัฐมนตรีวัฒนธรรมกล่าวว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าผลกระทบต่อผู้สร้างสรรค์ศิลปะจะไม่ใช่แค่เดือนหรือสองเดือน 

เนเธอร์แลนด์

รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือด้านวัฒนธรรม 300ล้านยูโร และเมืองอัมสเตอดัม ให้เงินช่วยเหลือศิลปินท้องถิ่นต่างหากอีก 17ล้านยูโร

นอร์เวย์

รัฐบาลให้เงิน 300ล้านโครน (ประมาณ 1,112 ล้านบาท) แก่ศิลปิน มีเงินสนับสนุน 60%ของรายได้ และยังมีเงินจากกองทุน Norwegian Performing Artists’ Fund อีก 70ล้านโครน อีกด้วย

บัลกาเรีย

ให้เงินผู้ทำงานอิสระ ฟรีแล้นซ์ 500 ยูโร ต่อเดือนเป็นเวลาสามเดือน และมีการรับประกันแก่ผู้ทำงานทางวัฒนธรรมให้รัฐว่าจะมีงานไปอีกไม่ต่ำกว่า หกเดือน

โครเอเชีย

รัฐมนตรีวัฒนธรรมแบ่งสรรค์งบประมาณให้ผู้ทำงานครีเอทีฟ จำนวน 300 HRK ล้าน หรือประมาณ 1530ล้านบาท และสามารถกู้เงินดอกเบี้ย 2% ระยะเวลาห้าปี ไม่ต้องจ่ายปีแรก

เอสโทเนีย

รัฐบาลให้เงินชดเชยแก่งานอีเว้นท์ที่ถูกยกเลิกจัดและสูญเสียรายได้ เป็นเงิน 3ล้านยูโร 

สวีเดน

รัฐบาลออก งบช่วยเหลือฟรีแล้นซ์ ศิลปินอิสระ 21 ล้านโครน โดยขอได้สูงสุด 100,000โครน ( สูงสุดประมาณ 376,000 บาทต่อคน )

โปแลนด์ โปรตุเกส สโลเวเนีย ลิทัวเนีย ก็มีเงินช่วยเหลือศิลปินเช่นกัน แต่ผมอ่านไม่ออกครับ ^ ^”

ถ้าคุณรู้สึกว่า ก็ประเทศพวกนี้ร่ำรวย ลองดูมาดากัสการ์ซึ่งหนึ่งในประเทศที่จนที่สุดในโลก ช่วยศิลปินด้วยการส่งข้าวให้พวกเขาตลอดในช่วงที่ได้รับผลกระทบ ส่วนอาฟริกาใต้ให้เงินช่วยเหลือ ประมาณ 312ล้านบาท แก่ศิลปิน และยังมีแคมเปญใหญ่อื่นๆเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเล็กๆที่สร้างสรรงานวัฒนธรรมอีกด้วย การให้เงินช่วยเหลือต่อหัวอยู่ที่ 499 เหรียญ และมีโครงการให้เงิน 1000 เหรียญแก่ผู้ทำงานคราฟต์ และบราซิลผ่านกฎหมาย Aldir blanc (ชื่อนักแต่งเพลงที่เสียชีวิตไป) ที่ช่วยเหลือผู้ทำงานด้านวัฒนธรรมที่จะมีเงินช่วยเหลือออกมาก 560ล้านเหรียญ

ส่งเสียงให้ถึงรัฐบาลไทยกัน

ช่วยกันแชร์และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนทำงานดนตรีได้ที่ ชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย

ส่งเสียงให้ถึงรัฐบาล เข้าร่วมกับชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทยได้ครับ

อ้างอิงบทความ

https://www.theguardian.com/culture/2020/jun/18/world-spends-to-protect-culture-from-economic-ruin

https://www.europarl.europa.eu/RegData/etudes/BRIE/2020/649414/EPRS_BRI(2020)649414_EN.pdf

https://www.internationalartsmanager.com/news/arts/south-korea-pledges-money-to-help-artists.html

ประเทศต่างๆช่วยเหลือคนศิลปินกันอย่างไรบ้าง