จินตนาการประชาธิปไตย ของพระมหากษัตริย์สยามสามพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรไทย

 

บังเอิญเคยมาพักโรงแรมแถวพิษณุโลก แล้วเจอแม็กกาซีนศิลปวัฒนธรรมฉบับ 8 มิย 2553 ครับ พบว่าอ่านแล้วน่าสนใจดี เป็นเรื่องของระบอบการปกครองแบบใหม่ที่กำลังส่งส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ณ ขณะนั้น และทั้งสามพระองค์ (ร5 ร6 ร7) แม้จะเป็นผู้ที่เปิดใจกว้างแต่ก็ปฎิเสธที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาของพระองค์ เหตุผล (หรือคำอ้าง)สำคัญของทั้งสามพระองค์ที่เหมือนกันคือความ”ไม่พร้อม”ของประชาชน และที่เหลือสรุปได้ดังนี้

รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเป็นกษัติริย์สยามองค์แรกที่ถูกท้าทายให้ลดทอนพระราชอำนาจลงโดยพระราชวงศ์และขุนนางรวม 11 ท่านในปี 2427 จากหนังสือความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ.103 โดยต้องการให้สยามเปลี่ยนจาก Absolute Monachy มาเป็น Constitutional Monachy ซึ่งเป็นการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ร่วมปกครองกับเสนาบดี

เหตผลของท่านที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนคือ

ความไม่พร้อมของสยามที่จะดำเนินกิจการตามแบบคอนสติติวชันในทันที เนื่องจากความไม่พร้อมใน “ตัวบุคคล”ที่จะมาขับเคลื่อนแนวคิดอันนั้น เช่นคณะบุคคลที่จะมาทำหน้าที่รัฐบาล “ไม่ใคร่จะได้อาศัย ฤาไม่ได้อาศัยเสนาบดีตามตำแหน่งนั้นๆเลย เราต้องรับการตำแหน่งนี้หนักยิ่งกว่าปริเมียอังกฤษ”

ความไม่พร้อมของการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ เสนาบดีส่วนใหญ่ต้องการจะบริหารกรมต่างๆเสียมากกว่า และการสรรกาบุคคลที่มีประสิทธฺภาพมาทำงานในสภานิติบัญญัตินั้นจึงเป็นอีกเรื่องที่สยาม “ยังไม่พร้อม”

“ในส่วนของลิยิสเลตีฟเคานซิลนั้น เป็นการจำเป็นจะต้องมีดังเช่นเราได้กล่าวมาแล้วแต่ไม่เป็นการง่ายเลยที่จะหาตัวผู้ซึ่งจะได้เป็นการจริง ผู้ซึ่งจะมีปัญญาชี้เหตุการณ์ติแลชมได้นั้นมีมากคนไป แต่ไม่พ้นจากที่จะเหมือนกับชี้บอกว่าสิ่งนี้ดำสิ่งนี้แดง สิ่งนี้ขาว ซึ่งแลเห็นอยู่แก่ตาทั้วกันแล้วอย่างนั้นเอง แต่ผู้ซึ่งจะทำให้เป็นร่างร่างอย่างใดเข้านั้นไม่ใคร่มีตัวเลย”

พระองค์เสนอว่าการปรับปรุงบ้านเมืองไปสู่การมี Constitution นั้นต้องทำ Government Reform เสียก่อน (ซึ่งจะเห็นว่ากระแสการปฎิรูปยังคงสะท้อนมาจนถึงยุคปัจจุบัน) และจินตนาการของท่านคล้ายการประชุมสภา

รัชกาลที่ 6

เกิดคณะทหารหนุ่มเสี่ยงตายคิดปฎิบัติแต่ถูกจับได้เสียก่อน คือ กบฎ ร.ศ.130 แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีแนวคิดสมัยใหม่ และแสดงพระทัยกว้างเมื่อถูกท้าทาย เบื้องต้นท่านทรงเห็นด้วยกับแนวคิด Constitution เพราะการปกครองโดยมีกษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดเพียงผู้เดียว อาจส่งผลร้ายได้ถ้ากษัตริย์ “เปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบ ดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบ ฉนี้ก็ดีประชาชนก็อาจได้รับความเดือนร้อน ปราศจากความศุขไม่มีโอกาสที่จะเจริญได้ ดังนี้จึงเห็นว่าเป็นการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่” แต่ท่านก็ยังทรงมีพระราชดำริถึงความไม่พร้อมของสยามหากจะมี Constitution ผ่านรูปแบบพระราชนิพนธ์ต่างๆ

หากประชาชนยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะปกครองตัวเองได้ ก็อาจใช้อำนาจในทางที่ผิด แม้ว่าจะเป็นไปตามความต้องการของเสียงข้างมากก็ตาม อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชนได้

เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในรัฐสภาแล้ว หากผู้แทนนั้นเป็นคนดีจริงก็จะไม่มีความเสียหาย แต่ปัญหาคือ “ประชาชนโดยมากก็มักมีกิจธุระทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ด้วยกันทุกคน จะมัวสละเวลาเพื่อกระทำความวิสาสะ กับผู้ที่จะเปนผู้แทนตนในรัฐสภาไม่ได้อยู่เอง”

นอกจากนี้การแข่งขันกันของพรรคการเมืองหรือคณะปาร์ตี้เพื่อให้ได้คนจำนวนมากกว่าคู่แข่งนั้น “ไม่ได้ใช้ฬ่อใจราษฎร์ด้วยถ้อยคำเท่านั้น ยังมีฬ่อใจโดยทางอื่นๆอีก ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสะดวกไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรงๆเปนที่สุด คณะใดมีทนมากจึ่งได้เปรียบมากอยู่” “ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตนเพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี สมควรจะเป็นผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉนี้เลย ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือก ฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น”

“เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกัน ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนข้างมากเสมอ ก็ผู้ที่จะลงคำแนนนั้นโดยมากก็คงจะลงคะแนนคามๆกัน สุดแต่หัวน่าแห่งคณะของตนจะบอกให้ลงทางไหน”

จินตนาการถึงพรรคการเมืองเสียงข้างมาก

“เมื่อปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง ฤาพูดตามศัพท์อังกฤษว่า ถืออำนาจ ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งน่าที่ต่างๆในรัฐบาล เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เข้าถืออำนาจ เจ้าน่าที่ต่างๆก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป”

จินตนาการถึงรัฐสภา ว่าไร้ผล

“ประชาชนจะร้องทักท้วงขี้นได้ก็โดยอาศัยปากแห่งผู้แทน ซึ่งได้เลือกให้เข้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว ก็ในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์นั้น แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช้ฤา พวกรัฐบาลเขามีอยู่มาก ถึงใครๆจะร้องจะว่าเขาอย่างไร เมื่อท้าลงคะแนนกันเข้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เขาเมื่อนั้น”

นี่คือส่วนหนึ่งของจินตนาการของรัชกาลที่ 6 ถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงของสยามแมื่อ 100 ปีมาแล้ว และก่อนจะมีการเปลี่ยนการปกครอง 21 ปี จะเห็นว่าพระราชดำรัส(กล่าวในตัวเอียง)นั้น ตรงกับวลีผู้ต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไตยสมัยนี้อย่างไม่น่าเชื่อครับ

รัชกาลที่ 7

ในช่วง 7 ปีแรกของการครองราชย์ก่อนจะมี Revolution พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตรียมการเพื่อใช้รัฐธรรมนูญสำหรับประเทศสยามพอสมควร แต่ด้วยข้ออ้างเรื่อง “ความไม่พร้อม” อีกเช่นกัน ทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงไม่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ทรงเตรียมไว้

ในช่วงปีแรกๆพระองค์ทรงมีประราชหัตถเลขาลงวันที่ 23 กค 2469 เพื่อทรงปรึกษาข้อราชการด้านต่างๆกับพระยากัลยาณไมตรี ( Dr.Francis B. Sayre) เรื่องปัญหาของสยาม ความตอนหนึ่งกล่าวถึงสถานภาพของพระมหากษัตริย์กำลังตกอยู่ในความยากลำบาก มีสัญญาณชัดเจนว่า วันเวลาของการปกครองระบอบ “เอกาธิปัตย์” หรือผู้มีอำนาจสิทธฺ์ขาดแต่ผู้เดียวเหลือน้อยเต็มที และทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการปกครองในระบอบรัฐสภาดังนี้

คำถามข้อสาม ประเทศนี้ต้องมีการปกครองในระบอบรัฐสภาในวันใดวันหนึ่งหรือไม่ และระบบรัฐสภาตามแบบตะวันตกนั้นเหมาะสมกับคนตะวันออกจริงหรือ?

คำถามข้อสี่ ประเทศนี้พร้อมที่จะมีรัฐบาลจากผู้แทนราษฎรแน่หรือ? โดยส่วนตัวข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจต่อคำถามข้อที่ 3 แต่สำหรับข้อที่ 4 ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ยืนยันว่า ไม่”

พระราชหัตถเลขาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ : “คำถามของประเทศนี้ไม่ใช่ประเด็นว่า เราต้องการประชาธิปไตยหรือไม่ แต่เป็นประเด็นว่า รัฐบาลประชาธิปไตยที่แท้จริงตอนนี้เป็นไปได้หรือไม่ และการที่ประชาชนจะสามารถออกเสียงเลือกตั้งโดยมีความรู้ถึงผลพวงของการกระทำของเขาหรือไม่ ก็ขึ้นกับมาตรฐานการศึกษาและอายุของเขา เมื่อความจริงมีอยู่ว่า ประชาชนเราจำนวนมากยังขาดการศึกษา

ทรงจินตนาการถึงระบบทุนที่จะครอบงำการเมือง โดยขณะนั้น คนจีน เป็นนายทุนใหญ่ ความข้อนี้ในพระราชบันทึก Democracy in Siam 2470

“ข้าพเจ้าจะขอเอ่ยถึงความจริงข้อหนึ่งคือ พรรคการเมืองของคนจีนจะมีอำนาจเหนือรัฐสภา แราอาจไม่ให้สิทธฺ์ทางการเมืองแต่อย่างไรแก่คนจีนก็ได้ แต่เขาก็จะมีอำนาจเหนือสถานการณ์อยู่นั้นเอง เพราะเขามีเงินสดอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก

พรรคการเมืองใดซึ่งตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินทุนจากคนจีนจะไม่วันทำการสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นการเมืองในประเทศสยามจะอยู่ใต้อำนาจพ่อค้าคนจีนซึ่งจะเป็นผู้สั่งการ ที่พูดมานี้มีทางที่จะเป็นไปได้อย่างยิ่ง

(ในสมัยนี้ คนจีนส่วนใหญ่ต้านรัฐบาลประชาธิปไตย และแปลสภาพกลายเป็นคนกรุงเทพฯไปเรียบร้อยแล้ว)

ดูเหมือนว่าเวลา 80 ปีนั้นจะยังไม่เพียงพอให้เราได้เรียนรู้ของขวัญจากแดนสิวิไลซ์ที่เรียกว่าประชาธิปไจได้กระจ่างแจ้งเสียที หากจะอ้างความไม่พร้อมอีกในเวลานี้ น่าจะกระอักกระอ่วนเต็มที

 

ส่วนหนึ่งจากบทความโดย ปรามินทร์ เครือทอง