พอถึงช่วงจ่ายภาษี คนเมืองก็มักจะบ่นและเป็นเหตให้เริ่มสนใจการเมืองว่านำเงินของเราไปทำอะไรบ้าง แถมบางคนยังค่อนขอดว่าคนต่างจังหวัดจ่ายภาษีน้อยกว่าอีกด้วย ความจริงแล้วคนเมืองก็ใช้ภาษีเปลืองกว่ามาก เช่น การศึกษา สาธารณูปโภค รถไฟฟ้า และที่คุณนึกไม่ถึงอย่างเช่นค่ากระแสไฟฟ้าที่เราใช้กันนั้นรัฐมีการใช้ภาษีไปช่วยเหลืออยู่ไม่ให้แพงเกินไป และคนเมืองก็ใช้ไฟกันอย่างกระหน่ำ ( ห้างพารากอนห้างเดียวใช้ไฟเป็นสองเท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ) แต่ภาษีที่ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องจ่ายอย่างเท่าเทียมกันนั้นคือ Vat 7% นั่นเอง
ส่วนสาเหตที่เขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพราะตัวเองลืมวิธีจ่าย ภ.ง.ด. 91 เองทุกปีเลยครับ 🙂
ช่วงเวลาที่ต้องยื่นภาษี
โดยปกติต้องจ่ายก่อน31 มีนาคมของทุกปีนะครับ ช้ากว่านั้นก็จะถูกปรับได้ (สำหรับปี 2556 อนุโลมให้ถึงวันที่ 8 เมย)
จ่ายภาษี ทำไง ใครต้องยื่นภาษี ?
ผู้มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาทุกคนต้องยื่นภาษี และสำหรับผู้ที่ต้องจ่ายภาษีเองโดยบริษัทไม่ได้บริการให้ ( ปกติบริษัทที่บริการจัดการภาษีให้พนักงาน บางทีเค้าเอารายได้เราไปหมุนภาษีบริษัทครับ ) การยื่นแบบสามารถยื่นได้ทุกคนแม้คนที่เงินเดือนไม่ถึง 20,000 ครับ ( ถ้าคนเงินเดือนไม่ถึงจะทำให้ภาษีเป็น 0 บาท และจะได้ภาษีคืนด้วยครับ ) ส่วนการจ่ายก็สามารถยื่นส่งแบบผ่านเว็บไซต์ได้เลย (ภงด 91 สำหรับรายได้ที่เป็นค่าจ้าง เงินเดือน (เงินได้ตามมาตรา 40(1)) เท่านั้นนะ ถ้ามีเงินได้มาตรา 40 (วงเล็บอื่น) ต้องใช้ ภงด 90 นะคร้าบ ดูที่ วิธีจ่ายภาษี ภงด 90 สำหรับผู้มีรายได้หลายทาง
ขั้นตอนการยื่นภาษี
เตรียมเอกสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษีและรายได้ให้พร้อม
โดยปกติแล้ว บริษัทที่ให้เงินคุณควรมีการสรุปที่เค้าเรียกกันว่าแบบ 50ทวิ หรือใบรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50ทวิ ให้ครับ เพราะโดยส่วนมากบริษัทมักหักภาษีคุณไปเรียบร้อยแล้วตอนจ่ายเงินให้คุณ ถ้ายังไม่ได้ใบนี้ลองถามหาจากบริษัทคุณนะครับ หรือในกรณีเป็น freelance เมื่อคุณได้รับเงินและมีการ “หักภาษี” เกิดขึ้น คุณต้องทวงใบหัก ณ ที่จ่ายใบนี้ด้วยทุกครั้งเพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบการยื่นและขอคืนภาษี
สำหรับเอกสารภาษีสำหรับคนที่มีรายได้ซับซ้อนและได้ไม่สม่ำเสมอ ( เช่นนักดนตรี, ศิลปิน, Freelance ) ก็ควรหาแฟ้มมาเก็บเอกสารต่างๆใว้สักใบน่าจะดีกว่านะครับ ไม่งั้นพอจะจ่ายทีหาเอกสารไม่เจอ เดี๋ยวจะงงๆ

นอกจากนี้ยังมีเอกสารพวกประกันชีวิต หรือแม้กระทั่งใบอนุโมทนาบัตรต่างๆ ก็สามารถนำมาใส่ลดหย่อนได้เช่นกัน เค้าจะมีเปอร์เซ็นลดหย่อนของเค้าครับ นี่อาจเป็นสาเหตทำให้ มูลนิธิต่างๆยังคงอยู่และมีคนฐานะดีบริจาคอยู่เรื่อยๆ 😛

นอกจากนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่ของคุณไม่มีรายได้ ก็สามารถใช้ลดหย่อนได้ด้วยเช่นกันครับ แต่สมมติว่าคุณมีพี่น้องที่ต้องจ่ายภาษีเหมือนกัน ก็ต้องแบ่งกันเองนะครับว่าใครจะใช้คุณพ่อมาลดหย่อนหรือใครจะใช้คุณแม่มาลดหย่อน อย่างไรก็ตามบางคนทำบริษัทแล้วเผลอเอาคุณพ่อคุณแม่ไปเป็นฟรีแลนซ์รับตังค์ให้เพื่อช่วยลดภาษี ก็จะทำลดหย่อนตรงนี้ไม่ได้นะครับ จะเห็นว่าระบบมันล็อคกันมาอย่างดี
ลงทะเบียนยื่นภาษี สำหรับผู้ยังไม่เคยจ่ายภาษี online เลย
สำหรับคนที่ลงทะเบียนแล้ว ข้ามไปขั้นตอนต่อไปได้เลยครับ
มือใหม่หัดยื่นให้เข้าไปที่ เว็บลงทะเบียน ภ.ง.ด. 91 https://rdserver.rd.go.th/cgi-bin/main/member/reg_onlinePND9091.pl

เมื่อกดคลิกสัญชาติไทยเข้าไปแล้วก็กรอกข้อมูลลงทะเบียนตามจริงดังรูป และระบบจะให้เลือกรหัสที่จะใส่ครับ

เมื่อทำเรื่องเสร็จแล้วจะได้รหัสมา ก็จะมาถึงขั้นตอนจ่ายภาษีต่อไป
การจ่ายภาษี online
เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร สำหรับ ภ.ง.ด. 91 https://rdserver.rd.go.th/cgi-bin/main/member/send_pnd9091.pl
ใช้รหัสบัตรประชาชนที่ช่องด้านบน และรหัสที่เราตั้งไว้แล้วที่ช่องด้านล่าง อย่าลืม mem ไว้สำหรับจ่ายปีต่อๆไปด้วยนะครับ แต่ถ้าลืมก็สามารถกด “ลืมรหัส” ได้เช่นกัน

ระบบจ่ายภาษีจะนำเรามาที่หน้าแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ที่หน้านี้ครับ
ระบบจะมีช่องให้เราสามารถกรอกข้อมูลแก้ไขได้ แต่ถ้าถูกต้องอยู่แล้วก็ไม่ต้องกรอกนะครับ สำหรับคนที่มีคู่สมรสแล้วก็ติ๊กด้านล่างว่า “สมรส” และใส่ชื่อคู่สมรสด้านขวาด้วย ถ้าเป็นพนักงานบริษัทกันทั้งคู่ และจะแยกกันจ่ายก็ติ๊ก ” (3) มีเงินได้แยกยื่นแบบ ” หรือถ้าภรรยาหรือสามีไม่มีรายได้ก็ติ๊ก ” (4) ไม่มีเงินได้ ” แต่หลายๆคนจะบอกว่าถ้าแต่งงานกันแล้วไม่มีลูก การยื่นแบบสมรสจะยุ่งและไม่ได้เปรียบคนที่ยื่นแบบโสดแต่อย่างใด บางคนเลยเลือกติ๊ก ” โสด ” ตัดปัญหา ( หรือเป็นการไม่ให้อีกฝ่ายรู้รายได้ก็ไม่รู้แฮะเพราะไม่ต้องมานั่งคุยกัน 😛 )

ด้านบนใส่สถานะ โสด หรือสมรส(ต้องใส่รายละเอียดคู่สมรส) แล้วมาด้านล่างสุดให้ติ๊ก “ตามรูปแบบ ภ.ง.ด.91” จะกรอกง่ายกว่าแบบแบบ ภ.ง.ด.91 อย่างย่อ แล้วติ๊ก “ตกลง” ไปเลย ( สำหรับผู้ที่จะกรอกแล้วเก็บไว้กรอกอีก หรือต้องการเล่นโปรแกรมยื่นแบบ เค้าจะให้เลือก folder ในคอมพ์เพื่อเก็บไฟล์แต่ส่วนตัวผมว่ากรอกไปให้เสร็จเลยก็สะดวกดีครับ )

สำหรับคนที่จ่ายภาษีครั้งแรกเห็นช่องเต็มไปหมดขอบอกว่าอย่าเพิ่งถอดใจครับ ให้ลองใส่รายได้รวมทั้งปีที่ ช่องที่ 1 เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาณ ฯลฯ เสียก่อน ส่วนช่องอื่นๆมันจะคำนวนให้อัตโนมัติไม่ต้องเป็นห่วงครับ 🙂
ช่องกรอกภาษีที่ทุกคนควรสนใจ มีช่องใหญ่ๆ ก ข ค
ในช่อง ค. พอใส่ค่าลดหย่อนแล้วมันจะมารวมให้ในช่อง ก6
ก1 . เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ฯลฯ
ให้ใส่เงินเดือนรวมทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ในใบ 50 ทวิที่บริษัทออกให้ + งานที่เราไปทำและได้ตังค์เพิ่ม เช่นการบรรยาย หรือเล่นดนตรี หรืออื่นๆบางคนอาจมีปัญหาในกรณีที่บางบริษัทไม่ได้ออก 50 ทวิให้แต่ไปรับงานนอก ( เช่นนักดนตรีทำงานประจำ กลางคืนไปเล่นดนตรีแล้วเค้าจ่ายโดยหักภาษี ) ซึ่งบริษัทเหล่านี้มักห้ามคนทำงานทำงานนอกด้วย
ค7 . เบี้ยประกันชีวิต
สำหรับคนที่ทำประกัน ส่วนใหญ่ประกันจะอ้างเรื่องลดภาษีมาก่อนคุณจะทำประกันอยู่แล้วครับ แต่รายละเอียดจะมีเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยทุกปีนะครับ
ค8. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อันนี้ลองถามรายละเอียดจากบัญชี Hr บริษัทคุณเค้าน่าจะเก็บไว้ให้ บางบริษัทอาจไม่มีครับ
ก10. หักเงินบริจาค (ไม่เกินร้อยละ 10 ของ 9.)
อันนี้ถ้าเราไปบริจาคในวัด ซึ่งต้องเป็นวัดที่ได้รับการรับรองจะมีการระบุในใบอนุโมทนาบัตรว่าให้หักภาษีได้ครับ หรือจะบริจาคช่วยน้ำท่วมอะไรพวกนี้ก็หักได้เหมือนกัน ปกติจะหักได้ไม่เกิน 10% จากเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายหมดแล้ว ( แอบเห็นช่องบริจาคเพื่อการศึกษา แถวนี้ก็มีเยอะนะครับ 😛 เพียงแต่น้องๆอาจไม่มีใบเสร็จให้อะดิ )
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเรื่องลดหย่อนภาษี ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/41745.0.html
ค13 เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ส่วนนี้ให้ทุกท่านดูใน 50ทวิ จะมีแจ้งไว้ด้านล่างของเอกสารเขียนว่า “เงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม” ถ้าเงินเดือนประมาณ 20000 ก็จะเข้าประกันสังคมประมาณ 9000 บาท
ก15. หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
อันนี้ที่บอกว่าให้เก็บใบ หัก ณ ที่จ่ายไว้ในแฟ้มให้เป็นระเบียบ เราสามารถนำจำนวนเงินของการหักตังค์เราไปแล้วมาบวกกันทั้งปีแล้วใส่ในช่องนี้ครับ ถ้าใส่ไปทั้งหมดโดยปกติแล้วเรามักจะได้คืนภาษีนะ โดยมากคนที่เงินเดือนไม่ถึง 30,000 มักจะได้คืนภาษีครับ

ถ้าใส่หมดแล้วเรายังต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม ระบบจะทำการคำนวนให้อัตโนมัติ แต่ถ้าจะได้คืนภาษีระบบจะแสดงภาพและติ๊ก “ชำระไว้เกิน” ดังภาพนี้

ยกเลิก ลดหย่อน ค่าการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ
อ้อ ปีนี้ “ยกเลิก” ลดหย่อนค่าการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยนะครับ (ปีที่แล้วให้ได้ไม่เกินคนละ 15,000 หักได้ 10% ครับ รายชื่อโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยวที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้จากกรมสรรพากร )
ขอบคุณ Sia Theerawut จาก FB สำหรับความรู้ครับ
ยื่นแบบภาษี
หลังจากนั้นกดปุ่ม “คำนวนภาษี” ด้านล่างสุดครับ ซึ่งก่อนจะกดปุ่มผมอยากให้ทุกท่านทำการ Snap หน้าจอเก็บไว้ด้วยนะ อย่างของผมหน้าจอมันยาวลงมาก็เลื่อนๆลงมาแล้ว print screen เก็บไว้ก่อน เพราะว่าบางทีกดปุ่ม คำนวนภาษีแล้วระบบมัน Hang เด้งออกเฉยเลย ทำให้บางคนต้องมานั่งบวกกันใหม่ 🙁
พอคำนวนภาษีเสร็จแล้วจะเข้าที่หน้าผู้จ่ายเงินได้ของผู้มีเงินได้อันนี้

กรณีมีผู้จ่ายเงินได้ประเภทเดียวกันมากกว่า 1 ราย ( เช่น พนักงานบริษัทไปเล่นดนตรีข้างนอกหรือไปทำงาน Freelance ) ให้กรอกเลขประจำตัวของผู้จ่ายเงินได้รายที่จ่ายเงินได้สูงสุด นั่นคือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทท่านเพียงเลขเดียวเท่านั้นครับ โดยเลขดังกล่าวสามารถดูได้ในเอกสาร หัก ณ ที่จ่ายตามกฏหมาย 50 ทวิอีกเช่นกัน

เข้าสู่หน้าจอเพื่อยืนยันแบบ
เมื่อกดยืนยันแล้วจะเข้ามาสู่หน้าจอนี้

ในหน้านี้มันให้เราเช็ครายละเอียดเฉยๆครับ ไม่มีอะไร แต่ถ้าเลื่อนลงมาด้านล่างสุดของหน้าจะพบกับช่อง ” บริจาคภาษีให้พรรคการเมือง ” กับช่อง ” คำร้องขอคืนภาษี ” ซื่งเราจะบริจาคให้พรรคการเมืองก็ได้ครับ 100 บาท หรือจะไม่บริจาคก็ได้ ส่วนตัวผมก็บริจาคน่ะแหละเพราะถ้าเค้าตังค์น้อยก็ต้องหาตังค์ทางอื่นแล้วเราจะรอดรึครับแฮ่ๆ 😛 ( สนใจลองดูยอดการรับบริจาคพรรคการเมืองในเดือนธันวาคม 2553 ) และถ้าต้องการคืนภาษีก็ติ๊กที่ช่อง ” มีความประสงค์จะขอคืนภาษี “ ถ้าไม่คืนก็ถือว่าบริจาคให้รัฐเช่นกัน แต่ถ้าคืนเยอะมากเราก็จะถูกตรวจสอบได้ครับ เตรียมเอกสารไว้ให้ครบก็โอเคครับ


พอคลิกบริจาคภาษีต่างๆนานาแล้วคุณก็กดยืนยันครับ และก็จะมีอันนี้เด้งขึ้นมา
กรณีไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม

หน้ายืนยันเรียบร้อย สั่งปริ๊นท์ได้ ถ้าไม่มีเครื่องปริ๊นท์ผมใช้วิธีกดสั่งพิมพ์ แล้วก็อบทั้งหน้าที่มัน generate มาไป Save ไว้ใน gmail วางแล้วเหมือนเดิมเด๊ะเลยครับ
สำหรับผู้ที่ส่งแบบขอคืนภาษีสามารถดูรายละเอียดและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บริการสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด. 90,91
ระวังการหลอกขอคืนภาษีทางโทรศัพท์เพื่อเอาข้อมูลครับ การคืนภาษี สรรพากรจะจ่ายเป็นเช็คเท่านั้นนะ !
เป็นอันจบพิธีกรรมยื่นภาษีสำหรับบุคคลที่ได้รับเงินเดือนครับ แต่สำหรับผู้ที่รายได้เยอะเกิน ก็ดูวิธีชำระภาษีต่อไปได้ด้านล่าง
กรณีที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม
เมื่อกรอกเสร็จแล้ว ในกรณีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ระบบจะขึ้นหน้าจอประมาณนี้ เราสามารถจ่ายทางอินเตอร์เน็ทหรือไปที่ตู้ ATM โดยเอา รหัสควบคุมกับเลขบัตรประชาชนไปชำระได้ครับ

ตัวอย่างการจ่ายภาษีที่ตู้ Kbank


การจ่ายภาษีที่ตู้ SCB


ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร
โทรศัพท์ : 1161 ( ถ้าโทรติดนะครับ ) และวันนี้มีสรรพากรพื้นที่ 17 มา RT ด้วย ลองติดต่อได้ที่ @rdbkk17
บทความ ไทยเสียภาษีแค่ 2.3 ล้านคน รายได้คนจนสุดต่ำกว่าคนรวยสุดถึง 12.81
น่ารู้เกี่ยวกับภาษีเงืนได้บุคคลธรรมดา
ขั้นของรายได้และการจ่ายภาษี
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อได้ยอดเงินได้สุทธิแล้ว นำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษี ดังนี้
ภาพตารางการเสียภาษี
ตารางคร่าวๆแบบง่ายๆ

เทียบอัตราส่วนภาษีที่ต้องจ่ายต่อเงินเดือน

การขอผ่อนชำระภาษี
การขอผ่อนชำระภาษีเป็น 3 งวด ตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีภาษีที่ต้องชำระมีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้เสียภาษีจะขอชำระเป็น 3 งวด ๆ ละ เท่า ๆ กัน
งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับยื่นแบบ ภายในวันที่ 31 มีนาคม??.
งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 30 เมษายน??..
งวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม???..
ในกรณีทีมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนด ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะผ่อนชำระต่อไป
และต้องชำระภาษีที่ยังไม่ได้ชำระพร้อมเงินเพิ่มด้วย
คำเตือน
ถ้าไม่ชำระภาษีภายในเดือนมีนาคม(สำหรับแบบ ภ.ง.ด.90,ภ.ง.ด.91) หรือ
เดือนกันยายน (สำหรับแบบ ภ.ง.ด.94) จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
(เศษของเดือน ให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระและต้องระวางโทษเปรียบเทียบปรับ
กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 2,000 บาท
ช่วงโฆษณา

