รูปแบบการทำงานของเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภาคประชาชน)

รูปแบบการทำงานของเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภาคประชาชน) สรุปโดย @iwhale ครับ โดยย่อคือเครือข่ายจะเป็นโครงสร้างแบบใยแมงมุม ไม่มีแกนกลางเพื่อการทำงานที่คล่องตัวของทุกฝ่าย เพราะปัญหาที่ผ่านมาของการทำอาสาคือมีหน่วยงานมากมายต้องการเป็นแกนกลาง หรือพยายามขยายความเป็นแกนกลางของตน เช่นการเลือกใช้คนของตัวเองหรือส่งของให้คนของตนเองในการกระจายเท่านั้น หรือพยายามพรีเซ้นท์ว่าตนเป็นผู้ช่วยเหลือหลัก เป็นต้น

thaiflood

เรียนทุกท่านและท่านสื่อมวลชน
สิ่งที่แนบมาด้วย : สไลด์ประกอบการชี้แจงโครงสร้างการทำงาน

สืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยและวาตภัยที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขเร่งด่วนและทวีความลุกลามมากขึ้น จนคนทำงานต้องทำงานแข่งกับเวลา
ไปพร้อมๆกับการทำประชาสัมพันธ์ที่เร่งรีบเช่นกันจึงทำให้ขาดเวลาในการสื่อสารในบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วนให้ชัดเจนต่อสาธารณะชน

จึงได้มีการประชุมหารือทำความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว และจัดทำเป็นข้อสรุปเพื่อเรียนเสนอต่อทุกท่านดังนี้

– วันที่ 28 ตุลาคม 2553 ได้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างบุคคล, กลุ่มบุคคล และองค์กร ที่กำลังช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
และมีการแลกเปลี่ยนฐานคิดกันว่า หากมีการร่วมกำหนด, ร่วมออกแบบ, ร่วมคิด, ร่วมกันช่วยเหลือ น่าจะเป็นเครือข่ายทางสังคมที่มีพลังไปตัดการกับวิกฤตต่างๆได้
ดังข้อเสนอในสไลด์นี้ http://www.slideshare.net/kapook/wwwthaifloodcom-5590741 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ แต่ให้มีการเปลี่ยนชื่อจากที่เสนอเดิมคือ
คชอ. ภาคประชาชน เป็นชื่อ เครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภาคประชาชน) และมอบหมายให้ผมเป็นผู้ประสานงานของเครือข่ายในช่วงนี้

โดยวางไว้ว่าเครือข่ายจะเป็นโครงสร้างแบบใยแมงมุม คือ ไม่มีแกนกลาง
ถ้ารู้จักกันแล้วสามารถติดต่อกันได้เลยไม่ต้องผ่านตรงกลาง สามารถวิ่งมาทำงานร่วมกันได้ยามต้องการและแยกจากเมื่อจบภารกิจ และเนื่องจากในช่วงนั้น
เกิดภาวะวิกฤตมาก จึงเสนอให้มีการรวมกันเฉพาะกิจ เปิดเป็นศุนย์ประสานงานแบบวอร์รูม (รวมกันเฉพาะกิจ) ขึ้นโดยใช้โรงแรมราคาประหยัดที่เดินทางสะดวก
เป็นสถานที่ทำการเพื่อความต่อเนื่องในการทำงานได้ตลอดเวลา ผมจึงได้มีการเสนอให้ตั้งเป็น Crisis Camp Thailand ซึ่งได้จัดมาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2553
ซึ่ง Crisis Camp เป็นชื่อแบบเปิด (Open) ไม่มีผุ้ใดเป็นเจ้าของใครๆก็สามารถนำชื่อนี้ไปใช้ได้ทั่วโลก สามารถเกิดแคมป์ขึ้นและเลิกแคมป์ได้ทุกเมื่อ
จัดให้เกิดได้หลายแคมป์ จึงเกิด Crisis Camp Thailand ขึ้นที่โรงแรมพินนาเคิล ลุมพินี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2553
โดยผมในฐานะผู้ประสานงานได้เสนอขอทุนสนับสนุนเริ่มต้นพอให้สามารถบริหารงาน Crisis Camp Thailand ในช่วงหนึ่งเดือน
เพื่อบริการเครือข่ายอาสาฯทั้งหมดดังนี้ โดยมีการคำนึงถึงไว้ด้วยว่าหากภัยพิบัติยังรุนแรงต่อเนื่อง
อาจเป็นการรบกวนเจ้าของสถานที่มากเกินไปจนต้องหาที่ตั้งใหม่ในระยะยาว

– วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 มีการประชุมเครือข่ายฯ ที่ทีวีไทย ซึ่งได้มีสมาชิกเข้ามาเป็นแนวร่วมเพิ่มเติม มีการบรรยายภาพรวมการทำงาน
ดังสไลด์นี้ http://www.slideshare.net/kapook/ss-5625418 และได้กระจายทางเมล์กับโพสไว้ให้ดูในอินเทอร์เน็ต

– วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 เริ่มมีการติดต่อสื่อสารภายไปยังภายในและภายนอกภายใต้ชื่อ ศูนย์อาสาประชาชนฟื้นฟูภัยพิบัติ (ศอบ.) และมีการให้ข่าวอย่างเป็นทางการในนามศูนย์อาสาประชาชนฟื้นฟูภัยพิบัติ (ศอบ.) อย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 และมีการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในนามศอบ.มาอย่างต่อเนื่อง

– วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เนื่องจากมีสมาชิกเครือข่ายหลายท่านมีคำถามและเข้าใจว่า ศอบ.คือการเปลี่ยนชื่อของเครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ บ้างก็คิดว่าเป็นชื่อไทยของ Crisis Camp Thailand จึงได้มีวาระในการประชุมเพื่อหารือให้เกิดความชัดเจนในจุดนี้ ได้ข้อสรุปจากที่ประชุมว่า เครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ยังยึดหลักการเดิม
คือเป็นเครือข่ายใยแมงมุมที่ไม่มีแกนกลาง และ ศอบ. คือการยกระดับการทำงานของ “เครือข่ายประชาชนช่วยน้ำท่วม 53” ที่เกิดขึ้นจากการประชุมที่ธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ในวันที่ 26 ตุลาคม 2553 ขึ้นมาและเชื่อมต่อเป็น node หนึ่งของเครือข่ายแบบเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับสมาชิกเครือข่ายอื่นๆ

– วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับทราบจุดยืนจากการหารือในครั้งนี้ และได้แสดงความยินดีที่ได้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาจากการเรียนรู้ร่วมกัน จนนำไปสู่โครงสร้างที่ลงตัวและสามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยินดีที่จะสนับสนุนกระบวนการของภาคประชาชนนี้ต่อไปในทุกๆส่วนที่ขับเคลื่อนงาน

จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน และขอเป็นกำลังใจให้กับชาวอาสาสมัครทุกท่านที่ได้นำแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา มาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตภัยพิบัติครั้งนี้