3G ตอนที่ 2 ตัวละครหลัก และรัฐบาลที่เข้ามาในฉากสุดท้าย

หลังจากได้คุยกันเรื่อง 3G จากความอยากรู้เป็นจุดเริ่มต้นใน ปัญหา 3G ในเมืองไทย เหตุใดไม่เกิดซะที : คุยกับ @supinya จนได้ลองหันกลับไปดูที่มากันยาวเหยียดที่ 3G กับประวัติกิจการโทรคมนาคมในไทย ตอนนี้ก็มาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ดังที่มีข่าวท่านรมต.กรณ์ได้ออกมาแสดงความเห็นว่าควร ยกเลิกสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่และเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตแทน ซึ่งต่อมาท่านนายกก็ไปเยี่ยมเยียนกทช. ถึงที่ จนประเด็นการประมูล 3G และเงื่อนไขสัญญากลายมาเป็นจุดสนใจในสาธารณชนยิ่งกว่าเดิม ผมและ @warong ได้ตามไปสัมภาษณ์คุณ @supinya ถึงบริเวณบ้าน คุณสุภิญญาได้เล่าสถานการณ์ขณะนี้ของตัวละครทุกตัวได้อย่างน่าสนใจมากครับ

รวม ตัวละคร 3G

กทช

ดังที่ได้รู้จักเรื่องราวการก่อตั้งและปัญหาของกทช. มาแล้วจากตอนเก่าๆ นะครับ กทช. ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความหวังในพลังการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ แต่กทช. ยังเป็นองค์กรอิสระองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการบริหารและเสนอญัตติทางนิติบัญญัติด้วย ทำให้สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ของตนเองได้

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานผ่านมาห้าปีตั้งแต่ผู้บริหารชุดแรกดำรงตำแหน่งในปี 2547 กทช. กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องมีผลงานน้อย

กทช. รุ่นแรก

คณะกรรมการ กทช. รุ่นก่อน มีกรรมการดังนี้

  • พลเอก ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2547 – 28 กันยายน พ.ศ. 2550) – อดีตประธานกรรมการ
  • ดร. อาทร จันทวิมล (1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ? 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
  • ศาสตราจารย์ เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2547 – 28 กันยายน พ.ศ. 2550)
  • นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข (24 สิงหาคม พ.ศ. 2547 – 28 กันยายน พ.ศ. 2550)
  • ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ – ประธานกรรมการ
  • นายสุชาติ สุชาติเวชภูมิ
  • รองศาสตราจารย์ สุธรรม อยู่ในธรรม

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

แม้จะถูกวิจารณ์เรื่องผลงานน้อย แต่ผลงานรูปธรรมที่น่าสนใจของกทช. รุ่นก่อนก็คือ

แต่เรื่องที่ สบท ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังกทช. ที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาก็มีไม่น้อยเช่น

  • Spam SMS
  • ปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์บริโภคในบริการประเภท Prepaid

ส่วนแผนเกี่ยวกับการประมูลใบอนุญาต 3G ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อและล่าช้า และทำให้กทช. ยุคก่อนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น มีหลายประเด็นเช่น

  • ราคาขั้นต่ำการประมูล 5000 ล้าน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าน้อยไป โอนอ่อนตามข้อเสนอของเอกชนมากไป และแม้แต่คนใน กทช.เองก็ค้านกันค่อนข้างมาก
  • ใบอนุญาตที่เป็นไปได้มีเหลือ 3 ใบ ซึ่งพอดีกับจำนวนผู้ให้บริการที่อยู่ในตลาดรายเดิม (AIS True DTAC) และเอกชนก็เร่งผลักดัน 3G กันมากในยุคนั้นด้วย ดังนั้นจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เช่นจากดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รวมทั้งจาก NGOs นักวิชาการ และกระทั่งจาก CAT TOT อย่างมาก ว่าไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ กทช ภาพโดย @warong
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ กทช ภาพโดย @warong

ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การดำเนินการล่าช้า และสุดท้ายก็ไม่ผ่านขั้นตอน ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง หากยอมตามเงื่อนไขดังกล่าวและไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การประมูลใบอนุญาต 3G ส่วนภาคเอกชนก็อาจลุล่วงไป และคนไทยทั่วไปอาจได้ใช้ 3G แล้วก็เป็นได้ครับ 😛

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจเช่นนี้ก็อาจเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่นการประมูลที่มีราคาตั้งต้นต่ำไปอาจทำให้รายได้ภาครัฐน้อยเกินไป และเมื่อผู้เข้าประมูลมีจำนวนพอดีกับจำนวนใบอนุญาต ก็อาจมีการฮั้วกันได้

กทช. ยุคที่ 2

คุณะกรรมการกทช. ปัจจุบัน (ก.ค. 2553)

  • ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ – ประธานกรรมการ
  • นายสุชาติ สุชาติเวชภูมิ
  • รองศาสตราจารย์ สุธรรม อยู่ในธรรม
  • นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร
  • นายบัณฑูร สุภัควณิช
  • รองศาสตราจารย์ พนา ทองมีอาคม
  • พันเอก ดร นที ศุกลรัตน์

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

จุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อกทช. เปลี่ยนแปลงผู้บริการ และมีผู้บริหารหน้าใหม่เข้า มาดำเนินการต่อ หนึ่งในนั้นคือ พันเอก ดร นที ศุกรรัตน์ ที่ได้ทำให้ กทช. มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน มีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ออกสื่อมากขึ้น และทำให้ประเด็น 3G ปรากฏสู่สายตาประชาชนมากขึ้นด้วย

“ดร. นทีเป็นจุดเปลี่ยนของกทช. สมัยยังเรียน ดร. นที เรียนวิศวะฯ ได้ A ช้วน และเคยทำงานที่อเมริกา นานๆ ทีจะเห็นวิศวะมาทำงานเป็น Policy maker และมีความฝันอยากให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่ดี และเป็นคนที่แข็งมากๆ”

ความเห็นคุณสุภิญญาต่อดร. นที

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์
พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ภาพโดย @warong

ดร นที ศุกรรัตน์ แสดงออกอย่างเด่นชัดว่าต้องการจะทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น พร้อมกับความมุ่งมั่นตั้งใจ ดังจะเห็นได้ว่าท่านมีทวิตเตอร์ account @natee39G สำหรับให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกทช. โดยเฉพาะเรือง 3G แก่ประชาชน

ความเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลของกทช. ชุดใหม่

ความเปลี่ยนแปลงด้านการประมูล 3G ที่ชัดเจนคือการเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีการประมูลใบอนุญาตทั้งหมดให้เป็นธรรมและเน้นการแข่งขันมากขึ้น ผลักดัน ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ใหม่ ( เดิมในไทยมี 900 ,1800 ,1900 )

ส่วนเงื่อนไขการประมูล กทช. ปรับเป็นแผนให้ใบอนุญาตมีน้อยกว่าผู้เข้าร่วมประมูล หรือเรียกอย่างลำลองว่า สูตร N-1 เช่นในกรณีผู้ประมูล 3 ราย จะเป็นการประมูลเพื่อใบอนุญาต 2 ราย และถ้ามีผู้ประมูลรายเดียวจะยกเลิกการประมูล ส่วนถ้ามีใบอนุญาติเป็นไปได้เหลืออยู่ ก็จะจัดประมูลครั้งต่อไปด้วยเงื่อนไขเดิม

แผนการใหม่นี้เป็นวิธีที่กทช. สามารถแก้ปัญหาเรื่องการแข่งขันที่มีในเงื่อนไขการประมูล แบบเดิมได้ (มีข่าวว่าทางกทช. ภูมิใจกับวิธีนี้มาก) และทำให้ผู้ให้บริการต่างชาติ (เช่น Dokomo O2) กล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งภายใต้เงื่อนไขเดิมคงไม่กล้าเข้ามาด้วยขยาดการฮั้วประมูล!!

ส่วนเจ้าที่ไม่ได้ใบอนุญาตของไทยก็สามารถที่จะให้บริการเพียง 2G ต่อไปได้ (และถ้าหมดสัมปทาน ก็ประมูลใหม่)

ส่วนราคาขั้นต่ำในการประมูล ตัวเลขของคณะกรรมการ ที่มาจากหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการและทหาร (แต่ไม่มีกลุ่ม นักธุรกิจ) ได้ตัวเลข 12,800 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากการคำนวนของนักเศรษฐศาสตร์ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่สุดอย่าง True ก็สามารถที่จะเริ่มต้นประมูลด้วยได้

ข้อดีของกฎนี้คือการแข่งขันแบบเปิดกว้างและเสรีมากขึ้นเช่นนี้ เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ ( เดิมตามพรบ.กิจการโทรคมนาคม บริษัทโทรคมนาคมไทยจะอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% จากเดิม 25% แก้ไขในสมัย นายกฯ ทักษิณ )

ถ้าแนวทางนี้สำเร็จและเปิดให้มีการประมูลตามเงื่อนไขนี้ จะเป็นครั้งประวัติศาสตร์ทีเดียวครับ โดยในขั้นตอนก่อนประมูล จะมีการกักตัว CEO ทุกรายในโรงแรม ยึดอุปกรณ์การสื่อสารทั้งหมด และมีการถ่ายทอดในทำนอง Reality เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมประมูลทุกคนไม่ได้ติดต่อกับใครก่อนหน้าการประมูลเลย! (โปร่งใสสุดๆ)

ดูเหมือนที่ผ่านมามีความหวังว่าจะมี 3G ใช้แล้ว กทช กำลังจะจัดประมูล 3G และมีการตั้งกรรมการภาคประชาชนขึ้นมาแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน…. เรามาลองดูมุมของตัวละครผู้ให้บริการแต่ละเจ้ากันบ้างครับ

True

True เป็นผู้ประกอบการณ์รายเล็กสุด ที่ได้รับสัมปทานจาก CAT (เนื่องจากมีคลื่นความถี่เหลือ จาก DTAC) ในขณะนี้เหลือสัญญา 2G อีกเพียง 3 ปี (น้อยที่สุดในเอกชนสามเจ้า สาเหตุที่ True ่เหลือเวลาสัมปทาน 2G น้อยที่สุด ทั้งที่เป็นผู้เล่นรายใหม่ ก็เพราะว่าต่อสัญญาไม่ทัน) ดังนั้นจึงเป็นผู้เล่นรายที่กระตือรือร้นที่สุดที่อยากมาสู่ 3G เพราะจะหมดสัญญา

นอกจากนี้ True ยังเป็นแนวธุรกิจแบบ Convergence มีทั้ง Content และ Data ที่ 3G จะรองรับธุรกิจได้อย่างเหมาะสมที่สุด แต่ในแง่การประมูล บริษัทที่เป็นรายเล็กสุด ก็ดูเหมือนจะ”เหนื่อย” กว่าเจ้าอื่น

True ต่างจากผู้เล่นรายอื่นที่เปอร์เซ็นต์การถือหุ้นเป็นทุนส่วนใหญ่ ของคนไทย ดังนั้น True จึงเน้นการสื่อสารกับสาธารณะว่าการเงื่อนไขที่ปิดเสรี อาจมีผลให้ทุนต่างชาติเข้า มาในกิจการโทรคมนาคมไทย ( ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้ม ญี่ปุ่น มาแรงมาก ) จึงให้เหตุผลเชิงชาตินิยม (ว่าตนเองเป็นทุนไทย) มากกว่าเจ้าอื่นอย่าง DTAC และ AIS ที่ขณะนี้มีต่างชาติถือหุ้น 49%

AIS

AIS ได้ฐานความพร้อมด้านคุณภาพสัญญาณจากโครงข่าย TOT และมีเวลาเหลือตามสัญญา 5 ปี นอกจากนั้นยังมีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดี ขยายได้ง่าย มีเครือข่ายบริษัทที่สนับสนุนที่ดี และมีช่วงเวลาที่มีความได้เปรียบทางการเมืองมาพอสมควร

ความได้เปรียบทางการเมืองนี้ มากหรือน้อยเพียงใดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เช่นประเด็นคุณทักษิณได้แปรสัญญาภาษีสรรพสามิต ที่คุณสุภิญญาเห็นว่าเอื้อเอกชน และคุณสุภิญญาเคยถูกฟ้องเรื่องนี้จากชินคอร์ปเป็นมูลค่า 400 ล้านบาท จนเร็วๆ นี้ก็มีการถกเถียงกันในประเด็นการพิจารณายึดทรัพย์คุณทักษิณ ระหว่าง ดร. วรเจตน์ กับ ดร. สมเกียรติ ( อย่างไรก็ตามถ้าจัดว่า AIS ได้เปรียบ ในช่วงเวลาดังกล่าว DTAC ก็ได้รับข้อได้เปรียบตามไปด้วยเช่นกัน )

DTAC

Dtac เป็นผู้ประกอบการที่เหลือเวลาตามสัญญา 2G มากที่สุดคือ 8 ปี ดูเหมือนเป็นผู้เล่นที่มีความเสี่ยงต่ำสุดในหลายด้าน และมีความพร้อมทางด้านโครงข่ายสูงมาก นอกจากนีี้ยังมีศักยภาพในการทำเทคโนโลยีใหม่ถึง 4G ได้เลย และมีความแตกต่างจาก True และ AIS ตรงที่ลักษณะธุรกิจเน้นเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยตรง

อย่างไรก็ดี DTAC ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะปูพื้นฐานสู่ 3G มาตลอด มีการตั้งทีมงาน ” Next DTAC ” ด้วยความมั่นใจว่าตนเองจะพลิกจากเบอร์ 2 ขึ้นมาเป็น เบอร์ 1 ได้ถ้ามี 3G ลองอ่านสิ่งที่ DTAC ได้ปูพื้นตนเองมา

TOT

TOT เป็นผู้ให้บริการเดียวที่สามารถให้บริการ 3G ได้แล้ว เพราะเป็นเจ้าของคลื่นที่สามารถให้บริการ 3G มาได้แต่ดั้งเดิม (1900 MHz) ซึ่งได้รับสิทธิ์นี้มาตั้งแต่สมัยกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ผลดำเนินการยังไม่ค่อยชัดเจน ความพยายามขยายขอบเขตพื้นที่บริการก็น้อย ทำให้คนส่วนใหญ่เองก็ยังไม่ค่อยได้ใช้ 3G ของ TOT ซึ่งผู้ให้บริการทุกคน (MVNO) บอกว่าเป็นช่วงทดลองกันหมด

จะว่าไปแล้ว TOT มีเงื่อนไขที่ได้เปรียบค่อนข้างมาก เช่นเงื่อนไขปรกติที่ผ่านไป 15 ปีต้อง refarming คลื่นคืนมาใหม่ พรบ.กิจการโทรคมนาคมกลับยกเว้นให้ TOT ไม่ต้องคืนคลื่น เพราะยังไม่มีหน่วยงานอย่างกสทช.มาทำเรื่องคลื่นแบ่งประเภทระหว่าง Broadcast กับ โทรคมนาคมให้ชัดเจน

TOT ควบคุมสัมปทาน 2G และมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมอยู่อย่างมาก ดังนั้นการเปลี่ยนระบบสู่ 3G ด้วยวิธีใช้ระบบใบอนุญาตและรัฐมีแนวโน้มที่จะดึงเงินเข้าคลังโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรมีความเสี่ยงมาก

CAT

CAT กลับขอสละสิทธในการประมูล 3G เพราะไม่แน่ใจถึงแหล่งเงินที่จะนำมาประมูล และความไม่ชัดเจนขององค์กรเอง อย่างไรก็ตาม CAT ได้เดินหน้าเปิดให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ความเร็วสูง 3G ต่อเนื่องเอง CAT ยังเตรียมควบรวม 2 โครงข่าย ระบบ CDMA และระบบ Hucth เข้าด้วยกันเป็นโครงข่ายเดียวในชื่อโครงข่าย CDAM พร้อมอัพเกรดหรือเพิ่มระดับของเครือข่ายทั้งสองระบบให้เป็นโครงข่ายโทรศัพท์ความเร็วสูง หรือ ระบบ 3G ในอีก 25 จังหวัด

CAT นั้นมีปัญหาทางความสัมพันธ์กับ TRUE อยู่ตามข่าวในช่วงต้นปี ส่วนจุดแข็งของ CAT ก็คือช่องทางการสื่อสารระหว่างประเทศ

CAT ก็เช่นเดียวกับ TOT ควบคุมสัมปทาน 2G และมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมอยู่อย่างมาก ดังนั้นการเปลี่ยนระบบสู่ 3G ด้วยวิธีใช้ระบบใบอนุญาตและรัฐมีแนวโน้มที่จะดึงเงินเข้าคลังโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรมีความเสี่ยงมาก

รัฐบาล

หลังจากที่รัฐบาลได้นิ่่งเฉย ไม่ได้แสดงท่าทีต่อวาระทางด้านโทรคมนาคม องค์กรอิสระอย่างกทช. ก็ได้ทำหน้าที่และผลักดันด้านแผนการ 3G มาจนใกล้ถึงบทสรุปตามความคาดหวัง ที่ว่าจะมีการประมูลคลื่นความถี่ 3G ในเดือนกันยายนนี้ จู่ๆ ก็มีการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่โดยคุณ กรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ คุณจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT ว่า รัฐบาลจะยกเลิกสัมปทาน 2G และเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตทั้งหมด ทั้งที่รัฐบาลไม่เคยศึกษาหรือทำ road show มาก่อนหน้านี้เลย

ดูเผินๆ แล้ว เหมือนว่าข้อเสนอของรัฐบาลจะดีต่อ กทช. เพราะจะได้แก้ไขปัญหายุ่งเหยิงที่ผ่านมา รวมทั้งอำนาจในการบริหารของกทช. แต่คุณกรณ์กลับแนะนำว่าใบอนุญาตที่จะออกใหม่นั้น น่าจะมีอายุ 15 ปี ถือเป็นนัยบอกความต้องการอุ้มเอกชนก็เป็นได้ และความจริงแล้ว ไม่ใช่สิทธิของรัฐบาล ที่จะสามารถกำหนดกฏเกณฑ์ตรงนั้นได้

อย่างน้อยการเข้ามาของรัฐนั้น ทำให้เพิ่มตัวแปรต่อกทช.มากขึ้น และกทช.อาจตัดสินใจได้ไม่เต็มที่ เพราะรัฐบาลถึงแม้ โดยหลักการแล้ว ไม่สามารถควบคุมกทช.ได้ แต่ก็มาพร้อมกระแสสังคมเช่นเดียวกัน รัฐอาจมีบทบาทกับกทช.อยู่บ้างที่มีสิทธิในการเร่งหรือยืดเวลาจนถึงการจัดตั้ง พรบ กสทช. ซึ่งถ้าเกิดมีขึ้นมา กทช.ก็จะหมดความหมายไป

หมายเหตุ: ดูความยอกย้อนของกทช. และ กสทช. ไดในบล็อกเก่า ปัญหา 3G ในเมืองไทย เหตุใดไม่เกิดซะที : คุยกับ @supinya นะครับ

ข่าว 3G ที่เกี่ยวข้อง

ข่าว กทช.เคลียร์นายกฯลงตัว ลั่นเปิดประมูล3G ก.ย.นี้ : ความจริงไม่มีอะไรที่รัฐบาลควรจะมาเกี่ยวข้องเลย -_-” ผมเองยังตะหงิดกับการเสนอหัวข้อข่าวพอควรครับ

“มาร์ค”ขอ 1 เดือนศึกษา 3 จี : อยากจะฉุดรั้งเธอไว้ และทำทุกอย่าง ที่ตัวชั้นทำได้ 😀

กูรูโทรคมฟันธง 3G ไทยเตาะแตะ รั้งที่โหล่เอเชีย ?ไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียที่จะมี 3G ขณะนี้เหลือเพียงพม่าและอินเดีย ที่ยังไม่มี 3G ใช้ แต่อินเดียก็กำลังจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ พม่าก็มีโครงการแล้วและน่าจะเปิดใช้ได้ในอีกไม่เกิน 2 ปี” ทุกคนมีส่วนร่วมที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ครับ

DTAC ไม่ประมูล 3.9 G ดีแทคจะไม่เข้าร่วมประมูล 3.9จี เนื่องจากการคืนสิทธิคลื่นเดิมถือเป็นความเสี่ยง เพราะ กทช.ไม่สามารถรับรองได้ว่าดีแทคจะได้คลื่นกลับมาบริหารอีก : เอกชนไทย ไม่ชอบการแข่งขัน

TOT-กสท ขวางกทช.ระบุไร้อำนาจประมูล3จี พร้อมตบเท้าพบไอซีที “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ “ทีโอที- กสท-ไปรษณีย์”ผนึกกำลังลงนามสัตยาบันร่วม ค้าน กทช.ประมูลไลเซนส์ 3จี อ้างไม่มีอำนาจ ต้องรอ กสทช.เกิดก่อน” : มาตามนัดตอนเขียนบล็อกเสร็จ !

แถมท้าย 3G

1. ต้องขอขอบคุณ @warong เป็นอย่างสูงที่ช่วย rewrite Blog นี้ด้วยครับ ลองอ่าน คุยกับคุณสุภิญญา

2. ได้หนังสือที่ออกช่วงที่ @supinya ถูกชินคอร์ปฟ้องมาด้วย

อิสรภาพความคิด สุภิญญา กลางณรงค์ หนังสือที่ออกในช่วงที่ @supinya ถูกฟ้อง 400ล้าน
อิสรภาพความคิด สุภิญญา กลางณรงค์ หนังสือที่ออกในช่วงที่ @supinya ถูกฟ้อง 400ล้าน