ชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อมูลทั่วไปของชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ ฝากมาจาก @krajung เช่นกัน #iHear ไปงาน Comkucamp ทีเดียวสนิทกันทั้งภาคเลย 😀

facebook ของชมรม เข้าไปที่ http://www.facebook.com/group.php?gid=309947255215

ภาพอาคารเรียนที่ ชมรม ค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปสร้างไว้

แนะนำชมรม ค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชื่อชมรม

ภาษาไทย : ค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
English : Voluntary Development Group of Kasetsart University
อักษรย่อ : ?กอส? ย่อมาจาก ?กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร? ซึ่งเป็นชื่อเดิม

ที่ทำการ

อยู่บริเวณด้านหน้าอาคารกิจกรรม (ตึก ๘) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประวัติ

จุดเริ่มต้นของงานค่ายอาสาพัฒนาได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในรูปของ ?เกษตรชมรม? หรือ ?เกษตรฟอรั่ม? และต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็น ?กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์?

บุคคลซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มนิสิตอาสา สมัคร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ นายบำรุง บุญปัญญา ซึ่งได้เคยร่วมงานและได้แนวทางความคิดมาจากสมาคมนิสิตนักศึกษาสัมมนา โดยเริ่มดำเนินการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๐๙ หลังจากรวมกลุ่มผู้สนใจแล้วได้มีการเผยแพร่แนวความคิดของกลุ่มและดำเนินการ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ในปีพ.ศ.๒๕๑๐ กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มปฏิบัติงานค่ายอาสาพัฒนาเป็นครั้งแรก ณ หมู่บ้านป่ากอ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี และ หมู่บ้านคำพอก อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

แต่เนื่องจากเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้มีการปฏิรูปการปกครอง โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำให้กิจกรรมด้านต่างๆ ของนิสิต นักศึกษาชะงักลง ฉะนั้นเพื่อให้งานอาสาพัฒนาชนบทได้ดำเนินงานต่อไป ทางมหาวิทยาลัยจึงได้อนุมัติการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของมหาวิทยาลัย โดยมีชื่อว่า โครงการค่ายอาสาพัฒนา

ต่อมาในปี ๒๕๒๕ ทางมหาวิทยาลัยได้ออกรัฐธรรมนูญการปกครองนิสิตฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อบังคับว่าด้วยกิจกรรมนิสิต ให้มีสโมสรและชมรมเท่านั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการมาใช้ชื่อ ?ชมรมค่ายอาสาพัฒนา? ในปี ๒๕๒๖

ปัจจุบันออกค่ายใหญ่มาแล้วทั้งหมด ๔๒ ครั้ง ล่าสุดคือ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ ๖๖

เครื่องหมาย

ประกอบด้วย ตราพิรุณทรงนาค ล้อมรอบด้วยรวงข้าวในกำมืออยู่ภายในวงกลม และมีคำว่า ?ชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์? ล้อมรอบวงกลมอีกชั้นหนึ่ง

อุดมการณ์

?เพื่อช่วยเหลือพัฒนาสังคมและปรับปรุงคุณภาพนิสิต?

คำขวัญ

ตรงเวลา รู้หน้าที่ สามัคคีพร้อม ถ่อมตน อดทนงานหนัก

ติดต่อ

ชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

ใครจะบริจาคเสื้อผ้า สิ่งของ หนังสือ หรือเงิน
สามารถบริจาคได้ที่ ชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หรือโทร 0813545381, 025790113 ต่อ 1303

วัตถุประสงค์

เพื่อกระตุ้นและเร่งเร้าให้ประชาชนเข้าใจ และมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นของตนตามนโยบายของประเทศ
ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตนักศึกษา ข้าราชการ และประชาชน
ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาใช้ความรู้ความสามารถในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาท้องถิ่น
ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้ศึกษาสภาพความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี และ ทัศนคติของชาวชนบท
ส่งเสริมการพัฒนาตนเองของนิสิตนักศึกษา
สนับสนุนและให้ความร่วมมือในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

กิจกรรม

กิจกรรมระหว่างปี

จะเป็นกิจกรรมที่หารายได้เพื่อไปออกค่ายเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่การขายเครื่องหมายนิสิต งานคอนเสิร์ตดนตรี (น่าจะเป็นดาวกระจุย) ซึ่งจะมีการขายบัตรคอนเสิร์ตทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยเช่นหน่วยงานต่างๆใน มหาวิทยาลัย สนามม้า สวนจตุจักร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฯลฯ งานร้านอาหารครัวค่าย

ทริปโครงการเกษตร

เป็นการจัดทริปไปศึกษา ดูงาน หรือ ออกปฏิบัติงานจริงทางด้านการเกษตร เช่นดูฟาร์ม ดูไร่ ชมสวน ปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ไปเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงาน เป็นกิจกรรมผ่อนคลาย ซึ่งได้รับทั้งความสนุกสนาน และ ความรู้

ค่ายย่อย

จัดขึ้นช่วงหลังสอบ final เดือนต.ค. ใช้เวลา ๕-๖ วัน เป็นการออกปฏิบัติงานค่ายสร้างสนามกีฬา ห้องน้ำ ลานอเนกประสงค์หรือ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความขาดแคลนของสถานที่นั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวค่ายด้วยกัน และ กับชาวบ้านอีกด้วย

ค่ายใหญ่

จัดขึ้นช่วงหลังสอบ final เดือน มี.ค. ใช้เวลาประมาณ ๑๕-๒๐ วัน ถือเป็นหัวใจสำคัญของชมรมค่ายอาสาพัฒนา เป็นการออกปฏิบัติงานค่ายสร้างอาคารเรียน ๑ ชั้น ๔ ห้องเรียน หรืออาจรวมถึงการสร้างสนามเด็กเล่น ลานกีฬา ปรับปรุงห้องพยาบาล ห้องสมุด ฯลฯ การออกค่ายใหญ่จะได้รับประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากในตำรา ได้รู้จักเพื่อนๆ รุ่นพี่ต่างคณะ ได้ฝึกการปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ได้เรียนรู้ระบบการทำงาน การแก้ปัญหาต่าง ๆ