บริษัทเล็กดีอย่างไร ตอนที่ 3 : การบริหารการเมืองภายใน

บริษัทยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งมีการเมืองภายในมากมาย ทำให้ต้องมีต้นทุนของการบริหารการเมืองมากไปด้วย ผมเคยอยู่ในบริษัทที่มีพนักงานหลักพันมาแล้ว และพอมาเปิดบริษัท บริษัทของเราก็เคยผ่านการบริหารจำนวนคนเกิน 20 คนมาแล้วเช่นกัน

ปัจจัยการเมืองจากจำนวนพนักงานนั้นสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนโดยมีตัวเร่งคือ ความเครียดของผู้บริหารที่มีต่อสภาพธุรกิจในขณะนั้นด้วย ถ้าผู้บริหารเครียดมาก จะกดดันพนักงานระดับต่ำลงมาแบบ Top Down ทำให้องค์กรมีแนวโน้มเครียดและเกิดการเมืองภายในที่รุนแรง

จำนวนพนักงานไม่เกิน 5 คน

บริษัทระดับนี้ ถ้ามีผู้บริหารรวมอยู่ด้วย จะแทบไม่มีการเมืองภายใน เพราะทุกคนมีฟังก์ชั่นหน้าที่ของตัวเองเห็นได้อย่างชัดเจน และทุกคนมีสิทธิและความสำคัญค่อนข้างเท่าเทียมและต้องพึ่งพาอาศัยกันทุกคน ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญโดยธรรมชาติ และที่สำคัญคือพฤติกรรมของแต่ละคนนั้นสามารถคาดเดาจากปัจจัยต่างๆได้ง่ายเพราะค่อนข้างใกล้ชิดกัน ตัวอย่างก็คือบริษัทไทเกอร์ไอเดียในปัจจุบันมีพนักงานประจำไม่มาก จนทำให้ไม่มีการเมืองภายในเลยครับ โดยมีพนักงานประจำเพียง 5 คนเท่านั้น ต้นทุนในการบริหารแทบไม่มี สวัสดิการไม่ต้องมีเพราะคุยกันได้สบาย การขึ้นเงินเดือนพิจารณากันได้อย่างโปร่งใสและยอมรับเหตผลได้ดี

จำนวนพนักงาน 10 คน

คงความเป็นทีมได้ดีแต่จะเริ่มมีการเมืองภายในอยู่บ้าง เพราะว่าจะมี “คนโปรดของหัวหน้า” ที่นั่งใกล้ๆกันอยู่ ในกลุ่มที่ห่างหัวหน้าอาจเริ่มมีการนินทาหัวหน้ากัน หรือไม่อย่างงั้นก็แบ่งพวกพ้องกันเล็กๆน้อยๆสังเกตได้จากตอนไปกินข้าวอาจแบ่งเป็นสองกลุ่ม แต่พนักงานจำนวนเท่านี้ก็ยังยากที่จะสามารถรวมตัวกันทำให้เกิดพลังเงียบได้ หัวหน้าควรให้ความสำคัญแบบพี่น้องที่ต้องให้เท่าๆกันเช่นกัน ในบริษัทค่อนข้างต้องการบุคคลที่่มีความยืดหยุ่นระหว่างความมีวิสัยทัศน์แบบผู้นำและความมีระเบียบวินัยแบบพนักงานประจำที่ดี หัวหน้าต้องเริ่มให้ความยุติธรรมเพราะการพูดคุยเคลียร์กันมีเวลาลดลง อาจจะต้องมีต้นทุนจากการพาพนักงานไปเลี้ยงหรือไปเที่ยว

จำนวนพนักงาน 20 คน

การเมืองในบริษัทมีทับทวีคูณยิ่งกว่า 5-10 คนแบบเป็นคนละสเกล หัวหน้าอาจต้องใช้วิธีบริหารแบบ Traditional มาจับเช่นมีการลงเวลาทำงาน และการแบ่งกลุ่ม นอกจากนี้ยังอาจมีบางฟังก์ชั่นที่ต้องมีพนักงาน 2 คนขึ้นไปทำให้เกิดการเปรียบเทียบผลงานที่ชัดเจน และปัญหาการขึ้นเงินเดือนจะตามมา ในองค์กรจะมีพนักงานที่มีบารมีรองจากหัวหน้าและอาจเป็นที่ยำเกรงของน้องๆคนอื่นๆ โดยถ้าคนๆนี้เป็นคนสนิทอาจรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากน้องคนอื่นๆมาต่อรองได้ หัวหน้าแต่ละคนมีน้องๆชอบไม่เท่ากัน หัวหน้าติดตามงานของแต่ละคนและเช็คการ Load ของ Resource แต่ละอย่างได้ยากขึ้นทำให้ต้องมีการ tracking ด้วยกระบวนการต่างๆซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจและการเปรียบเทียบตามมา นอกจากนั้นแต่ละคนยังมีความเหลื่อมล้ำในการได้รับสวัสดิการและได้รับการดูแลจากบริษัทต่างกันทำให้ยิ่งเกิดการเมือง พนักงานมีการจับกลุ่มสนิทกลุ่มไม่ถูกกันอย่างชัดเจน บริษัทต้องหากิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ต่างๆเช่นการไปเที่ยวแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย การขัดแย้งระหว่าง Function เช่น Sale vs AE vs Production เกิดได้ชัดเจนเพราะแต่ละคนเห็นไม่ชัดเจนถึงหน้าที่และผลที่ได้ของแต่ละ Function นั่นเอง ทำให้มักแบ่งเป็น 3 ก๊ก

จำนวนพนักงาน 40-100 คน

ถือเป็นบริษัทที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ในความคิดของผม การเมืองภายในเพียบบบบ ความเหลือมล้ำเพียบบบ เกิดพลังเงียบขึ้น เริ่มมีความขัดแย้งข้าม Function มากขึ้น ต้นทุนการบริหารเพิ่มโดยต้องเริ่มมีผู้ดูแลฝ่ายบุคคลที่จะกำหนดสเป็คพนักงานแบบต่างๆทั้งสวัสดิการ วันลาและอื่นๆ ไม่มีเวลาที่จะหันหน้าเข้ามาคุยปัญหากัน เกิดการสะสมของปัญหาโดยที่ผู้บริหารยากที่จะรู้ได้ ไม่สามารถอธิบายสาเหตุของความผิดปกติต่างๆได้โดยง่ายโดยมักโทษ Function อื่นก่อนตนเอง มีความไม่พอใจยามมีการขึ้นเงินเดือนบางคน เริ่มมีการหมั่นใส้กัน มีคนที่ไม่มีใครอยากแตะต้อง ต้องมีการบริหารความแตกต่าง Diversify โดยรับคนหลายแบบเข้ามาทำงานให้เหมาะกับ Function และต้องโยกตำแหน่งที่คนละเลาะกันแล้วงานไม่เดิน บางครั้งผู้บริหารต้องใช้เวลาประชุมเรื่องการแก้ปัญหาคนมากขึ้น

จำนวนพนักงานระดับ 1000++ คน

มีการเมืองในทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้บริหารถึงลูกน้องกันเลยทีเดียว มีการเปรียบเทียบนินทา เช่นการเปรียบเทียบแม่บ้านระหว่างแผนก ระบบสวัสดิการต้อง Full Stream ต้องมีต้นทุนในการตั้งหน่วย HR เก็บสถิติต่างๆของแต่ละคนไว้ และบริหารกฏระเบียบต่างๆของบริษัท เริ่มต้องมีการจ้างที่ปรึกษาในการวางระบบ HR อยู่บ้าง เริ่มมีคำว่า “คนของใคร” และรุ่นเล็กต้องเลือกที่จะสนิทกับหัวหน้าคนใด

จำนวนพนักงานระดับ 10,000++

ต้นทุนมหาศาลที่เกิดขึ้นคือการบริหาร สหภาพ นั่นเอง โดยปกติผู้ที่อยู่สหภาพดูจะมีอภิสิทธิ์ในการทำงานอยู่เช่นกัน สำหรับหัวหน้าแต่ละฝ่ายแต่ละส่วนแต่ละคนต้องสร้างฐานอำนาจกันด้วย มีการยกย่องเชิดชูคนบางคนและกดดันคนบางคน การเมืองภายในบริษัทส่งผลอย่างมากต่อ Productivity ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่ต้องจัดระบบที่แม้มีการเมืองก็ยัง Run ต่อไปได้ซึ่งทำให้เสียต้นทุนในการพัฒนาระบบพวกนี้

คุณเม่นบอกว่า การที่พนักงานนินทาเจ้านายนั้นมองอีกมุมถือเป็นสิ่งดี เพราะเค้าจะไม่หันไปปทะเลาะกันเองนั่นเอง สำหรับในไทเกอร์สมัยมี 20 คน เราถึงกับแบ่งบทบาทกันว่าให้พี่คนนี้โดนด่าตลอด กับ ให้พี่คนนี้ใจดีมีแต่คนชม

คาร์แร็กเตอร์ของพนักงานในบริษัทขนาดใหญ่

1. พวกใกล้ชิดเจ้านาย เอาใจเจ้านายไปเรื่อยๆ บางคนเก่ง บางคนไม่เก่ง

2. คนที่ค่อนข้างเป็นกลาง มีความคิดดี ทำงานได้ดี (คนพวกนี้ไม่ค่อยบ่นเรื่องอยากย้ายงาน แต่มักจะย้ายเป็นคนแรก)

3. คนที่แบกโลก (input ลบ) จะคุยเรื่องปัญหาบริษัทและปัญหาระหว่างคนโน้นคนนี้ตลอดเวลาทำให้ป่วน

4. คาร์แร็คเตอร์แผนกจัดซื้อ จะเป็นคนแข็งๆพูดจาไม่ค่อยเข้าหูและชอบใช้อำนาจพอสมควร แต่เชื่อถือได้

5. คนที่มีความคิดอ่าน เป็นคนที่เจ้านายชอบเรียกมาคุยถึงเรื่องการเมืองของพนักงานคนอื่นๆ คล้ายๆสายลับ

6. คาร์แร็คเตอร์ admin จะเป็นคนที่เพื่อนๆส่วนใหญ่รู้สึกกลางๆ+รู้สึกดีด้วย ระวัง admin ที่เก็บตัว อาจเกิดอันตรายต่อการยักยอกเงินได้

7. ชอบปั่น ใส่สี และนินทาคนอื่น แต่เนื่องจากการนินทาแต่ละคนบ่อยจึงต้องจับกลุ่มเพื่อนที่คล้ายกัน ท้ายที่สุดจะมีปัญหากัน

โพสที่เกี่ยวข้อง

บริษัทเล็กดีอย่างไร ตอนที่ 1 : ประสิทธิภาพ | พัชร

บริษัทเล็กดีอย่างไร ตอนที่ 2: Social Media มีพลังกับธุรกิจขนาดเล็ก