ทำเว็บรัฐบาล ตอนที่ 7 : เว็บช่วยชาติสมบูรณ์ นายกเปิดตัว

ในที่สุดเว็บไซท์ก็เสร็จสมบูรณ์ในเฟสแรกครับ เชิญชมที่ http://www.chuaichart.com/

ความเดิมจากจดหมายในครั้งที่แล้วที่ว่า
“ถ้าหลังวันที่ 20 เมย ทางคณะทำงานมี Requirement เพิ่มเติมเกี่ยวกับเว็บไซท์ จะต้องทำสัญญากู้ยืมให้กับไทเกอร์ไอเดียครับ”

เมื่อวานกับวันนี้ก็เลยมีการส่งข้อมูลเข้ามากันอย่างมากมายรวมทั้งคุณเม่นได้ติดตั้งวีดีโอที่ท่านนายกฯได้กล่าวเปิดตัวเว็บไซท์ด้วยครับ สำหรับสิ่งที่ท่านพูด ได้ถอดมาเป็นข้อความได้ดังนี้

“ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซท์ช่วยชาติ ที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยจะต้องประสบในช่วงนี้ครับ อย่างที่พี่น้องประชาชนทราบดี ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาก จากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นมาในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยนั้นหดตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลก็มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าหากปล่อยภาวะการเช่นนี้ไป ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนตกงาน ขาดรายได้ ขาดโอกาส และก็ซ้ำเติมขีดความสามารถของประเทศในการเเข่งขันทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้า รัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตราการและโครงการต่างๆมากมายครับ ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ก็มีมาตราการจำนวนมาก ใช้เงินงบประมาณของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมากกว่าแสนล้านบาท เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและเพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนนั้นสามารถฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้โดยไม่ประสบความเดือดร้อนมากจนเกินไป และก็ถือโอกาสนี้วางโครงการต่างๆเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ตั้งหลักในการที่จะเตรียมตัวในยามที่เศรษฐกิจฟื้นคืนมา นอกจากนี้ยังคงจะมีมาตราการทางเศรษฐกิจจะออกมาอีกมาก มีการประมาณการกันว่ามาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบที่ 2 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีนั้น จะต้องใช้เงินมาถึง 1.5 ล้านล้านบาท เงินทั้งหมดนี้ครับจะเป็นเงินที่จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เพราะฉะนั้นเว็บไซท์นี้จึงจัดทำขึ้นมา เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าในการทำงานของรัฐบาลตามโครงการต่างๆ มีรายละเอียดถึงที่มา หลักการของโครงการ ไปจนถึงความคืบหน้า เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบ และมั่นใจในการความโปรงใส ของการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ซึ่งไม่ใช่เงินของรัฐบาลแต่จะต้องเป็นเงินของพี่น้องประชาชนในที่สุด นอกจากนี้ครับ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นอะไร ซึ่งคิดว่ารัฐบาลควรจะรับรู้รับทราบเกี่ยวกับงานทางด้านเศรษฐกิจหรือโครงการต่างๆ ที่จะทำให้เราสามารถแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เวปไซด์นี้ก็จะเป็นช่องทางที่พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งรัฐบาลเข้ามา เพื่อให้เราสามารถที่จะรับทราบ ปัญหาจริงๆในพื้นที่ ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านครับ ใช้ประโยชน์จากเว็บไซท์นี้แล้วก็มีส่วนร่วมในการช่วยให้บ้านเมืองของเรา สังคมของเรา หรือเศรษฐกิจของเรา สำคัญที่สุดคือประชาชนของเราทุกคนสามาถฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ครับ”

เว็บเปิดตัวพร้อมกับข่าวของท่านรองนายกกอร์ปศักดิ์ไปขัดกับใครบางคนในกระทรวงต่างๆพอดี ร้อนถึงท่านนายกต้องออกมาบอกว่า คุณกอร์ปศักดิ์จะเป็นรองนายกอยู่อีกนานครับ แต่ข่าวนี้เล่นเอาคณะทำงานทั้งชุดรวมทั้งไทเกอร์ที่ยังไม่ได้ตังค์หนาวไปเล็กน้อยเลย…

e0b881e0b8ade0b8a3e0b98ce0b89be0b8a8e0b8b1e0b881e0b894e0b8b4e0b98c

ที่เป็นแบบนี้ก็ไม่แปลกเท่าไหร่ครับ เพราะว่าท่านรองนายก(ด้านเศรษฐกิจ)มีหน้าที่ดูแลการใช้เงินในโปรเจ็คต่างๆนั่นเอง และเว็บไซท์นี้ก็มีจุดประสงค์เพื่อที่จะเปิดเผยเงินทุกบาททุกสตางค์ของโครงการมูลค่าแสนกว่าล้านนี้ให้ชัดเจน (รวมทั้งจะดำเนินการไปจนถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตัวที่ สอง ที่อาจมีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้าน บาททีเดียว) ลองพิจารณาในเว็บไซท์จะเห็นว่าในส่วนของเอกสารจัดซื้อจัดจ้างนั้น จาก สิบแปดโครงการมีเพียง โครงการเดียวที่ส่งเอกสารมาครับและเอกสารก็ยังไม่สมบูรณ์พอจะเอาขึ้นเว็บอีกด้วย เรื่องนี้ทำให้ผมพบความจริงที่เคยได้ยินกันมาตั้งแต่ยังเด็กว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”สำหรับวงการเมืองจริงๆ ทุกคนที่ทำงานด้านการเมืองมานานและเป็นนักการเมืองตัวกลั่นนั้นมีความแตกต่างจากคนที่ตั้งปณิธานเพื่อที่จะเล่นการเมืองใหม่ๆอยู่มาก เพราะทุกคนต้องเก๋าพอที่จะ เล่นการเมือง ในทุกระดับอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในหน่วยของทีมคณะทำงานเมื่อทำงานกันไปนานๆ ก็จะเริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของการเมืองครับ ทำให้ต้องแก้ไขจากการทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อมูล เป็นแต่ละคนในคณะทำงานรับผิดชอบการนำเสนอข้อมูลคนละโครงการแทน เรื่องนี้ทำให้ผมต้องเอาใจช่วยท่านรองฯให้เล่นการเมืองภายในรัฐบาลเพื่อนำข้อมูลมาลงเว็บให้ได้ตามปณิธาน(ซึ่งยากมากอยู่แล้ว) หลังจากนั้นยังต้องไปเล่นการเมืองกับฝ่ายค้าน ในการยันข้อมูลด้านการใช้จ่าย ยังไม่รวมถึงการเมืองระดับย่อยๆของแต่ละกระทรวงทบวงกรมที่รับเงินไปบริหารโครงการอีกเป็นร้อยหน่วย สรุปแล้วผมว่าในเวลาบริหารการพัฒนาประเทศ เราต้องใช้พลังและเวลาไปกับการบริหารการเมืองกว่า 70% ครับ ที่เหลือคือเอาไว้คิดและทำงานกันจริงๆ เรื่องแบบนี้จะทำให้เหล่าคณะทำงานผู้ไฟแรงและเพิ่งจบจากมหาวิทยาลััยระดับท็อปเท็นของโลกได้ซึมซับและปรับเปลี่ยนกลยุทธในการไปให้ถึงเป้าประสงค์แห่งชีวิตของแต่ละคนไปในที่สุด ( อย่างน้อยผู้มีความสามารถระดับท็อปของโลกเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะหาเงินมาจ่าย Supplier ให้ตรงเวลาได้ เรื่องนี้น่าจะยากยิ่งกว่าการ defense Thesis หลายเท่านัก !)

กรณีศึกษาเรื่องการออกความเห็นต่อลูกค้า

1. ชื่อเว็บ chuaichart.com
เว็บนี้นับว่าสะกดยากอย่างมากครับ คือคนไทยก็สะกดไม่ถูก และคนต่างชาติก็ยิ่งไปกันใหญ่ ในครั้งแรกทีมงานคิดว่าจะใช้ helpthai แต่เกิดคอมเม้นท์ว่ามันเหมือน thaihelpthai (เหมื่อนแล้วมันเป็นยังไงเนี่ยยย ?!?) เปลี่ยนไปเป็น recovery.go.th แต่ก็กลัวว่าคนจะบอกว่าเลียนแบบ recovery.gov ของโอบาม่าทั้งๆที่ตอนแรกก็อยากจะให้รู้ไปเลยว่าเราอยากจะทำให้เหมือน ในที่สุดก็เลยมีคนเสนอว่าให้ใช้ chuaichart หรือ chuaychart ครับ( ซึ่งทางผมเลยต้องจดโดเมนไว้ทุกแบบเพื่อป้องกันคนพิมพ์ผิด) ทางผมเองนั้นตอนแรกสนับสนุน chuaychart เพราะว่ามีเว็บ http://chequechuaychart.com/ มาก่อนหน้านี้แล้ว และผมก็ยังไปสอบถามน้องๆที่ iSchool จำนวนสิบคนที่จบปริญญาตรีแต่ไม่ได้เป็นนักเรียนนอก พบว่าทุกคนรู้สึกว่า chuaychart นั้นอ่านว่า “ช่วยชาติ” ได้ดีกว่า chuaichart อีกด้วย แต่ผลสรุปก็คือคณะทำงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอกก็ให้ความเห็นว่า chuaichart น่าอ่านได้ตรงที่สุดถ้ายึดตามหลักภาษาอังกฤษครับ และสุดท้ายก็มีการจดโดเมนภาษาไทยเช่นกันเป็น ช่วยชาติ.com แต่อาจมีปัญหาการแสดงผลที่ช้าและบาง browser อาจแสดงผลไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น (ยังไงก็ตาม เว็บนี้น่าจะดังแน่ๆเพราะฉนั้นคงไม่ต้องกังวลเรื่องชื่อเว็บเพราะคนเซิร์ทเอาอยู่แล้ว)

2.การคลิกที่ icon ของโครงการแล้วให้ขึ้นหน้าใหม่
โดยปกติเว็บรายการจะคลิกลิงค์แล้วมักจะขึ้นหน้าใหม่ครับ เพราะว่ามีคนที่มีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่มากบางคนคลิกที่ลิงค์แล้วพอเปิดหน้าต่อไปจะไม่รู้ว่ากลับมาอย่างไร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ของราชการบางทีก็ใช้ IE6 ที่ไม่มีระบบ tab ใหม่ (ถ้าเขียนให้เปิด tab ใหม่แล้วไปเจอคอมพ์ประเภทนี้ก็จะแฮ้งค์) แต่ถ้าท่านเป็นคนที่เล่นเน็ททุกวันเจอการเปิดหน้าใหม่เข้าไปก็จะรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาอย่างมากเลยครับ เพราะการเปิดหน้าใหม่ทำให้เราคอรโทรลการอ่านเนื้อหาจำนวนมากได้ลำบาก (ลองนึกว่า ผมกดเปิดหน้าใหม่ของทั้ง 16 โครงการขึ้นมา 16 หน้าซ้อนกัน ถ้าผมจะย้อนกลับไปอ่านโครงการที่สามจะทำอย่างไรดี) ดังนั้นในเมื่อเว็บนี้อยากจะให้เป้นต้นแบบของเว็บราชการต่อไปผมเลยต้องพยายาม convince คณะทำงานและท่านรองให้ไม่ใช้ระบบเปิดหน้าใหม่ โดยอ้างเหตผลว่า user ที่เป้นนักท่องเน็ทสามารถที่จะควบคุมการเปิดหน้าได้ด้วยการคลิกขวาเลือก เปิดหน้าใหม่ เปิด tab ใหม่ หรือ เปิดหน้าตามปกติได้อยู่แล้ว ทางคุณเม่นซึ่งเป็นผุ้เขียนบทความอย่างเป็นทางการของเว็บอย่าง usably.net ถึงกับต้องไปเปิดโพสขอความเห็นที่จะ defence ลูกค้ากันเลยทีเดียวครับ ลองอ่าน”เปิดเว็บหน้าใหม่ เหมือนแจกใบปลิว” ส่วนตัวผมเองก็ research นิดหน่อยและส่งจดหมายถึงทีมงานดังนี้

เรียนทีมงาน,
จากเมื่อวานที่ประชุมต้องการให้คลิกที่โครงการและเปิดหน้าใหม่เพื่อความสะดวกนั้นทางทีมงานไทเกอร์ไอเดียได้ใส่ coding ตามที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว สามารถเช็คดูได้ครับ http://www.chuaichart.com/

อย่างไรก็ตาม ในสังคมของคนท่องเว็บปัจจุบัน ไม่นิยมการเปิด new windows แล้วเพราะว่าทำให้การควบคุมการท่องเว็บระยะยาว (คือการเล่นอินเตอร์เน็ทนานกว่าสิบนาที) มีปัญหาเกิดความสับสนจากหน้าเว็บที่เปิดขึ้นมากเกินไป หาหน้าหลักไม่เจอ และ user ในความจริงแล้วสามารถควบคุมการเปิดหน้าใหม่ได้ด้วยตนเองอยู่แล้วเพียงคลิกขวาที่ลิงค์แล้วเลือกเปิดหน้าใหม่ ผมหาบทความอ้างอิงเรื่องนี้ตามลิงค์ด้านล่างครับ
http://gracefulflavor.net/2008/01/14/debate-should-new-links-open-in-new-tabswindows/
http://not-noticeably.net/entry/why-i-dont-like-target_blank
http://www.smashingmagazine.com/2008/07/01/should-links-open-in-new-windows/

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ทางไทเกอร์ยินดีเปลี่ยนวิธีการเปิดหน้ามาเป็นแบบเดิมถ้าเห็นชอบด้วยครับแต่ถ้าคิดว่าเว็บไซท์นี้ทางราชการนิยมทำให้เปิดหน้าใหม่เป็นเรื่องปกติก็ยินดีครับ ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ครับ

ขอบคุณครับ
พัชร

และทางรองนายกก็ตอบผ่าน iPhone มาอย่างรวดเร็วว่า

“Open as new window for now”

………