บอย โกสิยพงษ์ ( หลายๆคนชอบเขียนเป็น บอยด์ ตามภาษาอังกฤษ Boyd ) account twitter คือ @boydtui หรือพี่บอย ในมุมมองของผมนับว่าเป็นนักธุรกิจที่มีทักษะในการบริหารคุณค่าและประยุกต์ศิลปะได้ยอดเยี่ยมมากครับ ผิดกับคาร์แร็คเตอร์จริงๆของพี่เค้าเลย ในชีวิตนักดนตรีกับการทำงานธุรกิจของผมนั้นได้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับพี่บอยบ้างหลายครั้งโดยเริ่มในยุคของ Love iS โดยรวมพี่เค้าเป็นคนที่เราสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากครับ ด้วยอัธยาศัยแบบเนิบๆนั้น ทุกครั้งที่เราพูดคุยกันในเรื่องส่วนตัวก็จะได้รับความจริงใจ และถ้าเป็นการดีลธุรกิจก็จะได้สัมผัสอีกด้านที่เอาจริงเอาจังกับพลังในการหา win-win solution แบบนักธุรกิจ ส่วนการให้ความไว้วางใจนั้นถ้าพี่บอยไว้ใจใครก็จะให้อิสระในการทำงานดีทีเดียวซึ่งเราทุกคนล้วนรู้สึกดีที่ได้”ทำอะไรสักอย่างให้พี่บอย”ด้วยครับ

ด้านดนตรี กับ พี่บอย โกสิยพงษ์
ผมเองเมื่อสาม-สี่ปีก่อนได้มีโอกาสไปเล่นดนตรีไลฟ์สดทาง Internet และ TRUE Vision ซึ่งเป็นการผลักดัน TRUE MUSIC และไม่มีการบันทึกเทปครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นไอเดียของพี่บอยด์กับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ( CEO ของ TRUE ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนกับพี่บอยด์ ) ในครั้งนั้นคอนเสิร์ตทำได้ดีมาก แต่ตัว Event อาจมานำเทรนด์ Streaming ไปนิดทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ( แต่ก็เกิดจุดเริ่มตามประสาการแหย่เท้าทดลองสไตล์ TRUE ) อย่างไรตอนนัั้น Event นี้พี่บอยทำให้ทุกฝ่าย win-win กันแทบทั้งนั้นทีเดียว TRUE ได้ทดลอง Kick Off ศักยภาพของ TRUE MUSIC , พี่บอยได้คอนเสิร์ตและ Event และได้ดูแลด้าน Digital Content บ้างบางส่วน, ศิลปิน E1EVEN1TH ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไม่นานได้มีคอนเสิร์ตใหญ่มาลงซะที, ส่วนนักดนตรีอย่างผมได้ตังค์ค่าเล่นคนละสองหมื่น 😛

เป็นการถ่ายทอดสดที่สดจริงๆ ผมยกตัวอย่างวีดีโอนี้ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆศิลปินที่มาร่วม จะเห็น พี่น้อยวงพรูล้มถึงสองครั้ง ส่วนตัวผมอยู่ด้านขวาสุดครับมองไม่ค่อยเห็นเพราะเพลงนี้ไม่ค่อยมีคีย์บอร์ด ส่วนภาพกับเสียงไม่ซิงค์เพราะผม upload จาก dvd ที่อัดมาครับ
การสื่อสารของพี่บอยเวลามาดูพวกเราซ้อมนั้นจะใช้คำที่เป็นความรู้สึกส่วนใหญ่ครับ เพราะว่าพี่บอยด์นั้นความจริงแล้วถนัดด้านการแต่งเพลงมากกว่า อย่างเช่นเพลงบางเพลงที่ต้องย้ำเปียโนขึ้นต้น พี่บอยจะบอกกับผมว่า “พัชกดย้ำกว่านี้นิดนึง” พร้อมทำแขนประกอบด้วย แต่จะไม่ได้บอกเชิง Musical Technique แต่อย่างใด ส่วนการแต่งเพลงของพี่บอยด์นั้นบางครั้งจะแต่งโดยนั่งคุยกับนักดนตรีที่พี่บอยชอบสไตล์และไว้ใจได้ครับ โดยถ้าเป็นเพลงอัลบั้มของพี่บอยเองมักจะใช้นักดนตรีชาวต่างชาติและไปอัดเสียงที่อเมริกาตลอด เพื่อให้มี”กลิ่น”ของดนตรีที่ไม่เหมือนใครในไทยนั่นเอง ส่วนการแต่งเพลงให้คนอื่นบางครั้งก็จะนั่งกับนักดนตรีไทยเป็นครั้งคราวไป

สำหรับการเซ็ทอัพวงเพื่อแสดงคอนเสิร์ตนั้น พี่บอยอาจจะมาดูครั้งสองครั้งครับถ้าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่เก็บเงิน แต่ถ้าคอนเสิร์ตกลางๆ ช่วงแรกๆพี่บอยจะให้พี่ไก่ สุธีแวะมาดูบ้าง แต่ช่วงหลังๆพอทีม Back Up เราเป็นที่ไว้ใจแล้วก็จะไม่มาดูกันเท่าไหร่ครับ เหลือเพียงพี่สายชลที่จะคอยประสานเช็คว่าได้ซ้อมหรือยัง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า สรุปก็คือถ้าเป็นด้านดนตรีพี่บอยจะไม่ลงมาดูรายละเอียดจุกจิกเลยครับ และการให้พี่สายชลเป็น AR นั้นเหมาะสมมากจริงๆเพราะพี่สายชลถือว่าเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่ศิลปินรุ่นน้องๆให้ความเคารพนับถือ ดังนั้นปัญหาติสเกินควบคุมของศิลปินจึงมักไม่ค่อยมีครับ

ในส่วนของด้านการทำเพลง ผมเองทำที่บ้านและส่งแบบ online ครับ ด้วยความที่เป็นมือคีย์บอร์ดเมื่อได้โจทย์มาก็จะมาเริ่มเรียบเรียงใส่กลองใส่เบสกีต้าร์ ฯลฯ โดยใช้ Garageband นี่แหละ จากนั้นจึงค่อยส่งไปยัง Producer เพื่อคอมเม้นท์ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักไม่ค่อยมีปัญหาถึงพี่บอยด์ครับ นานๆครั้งอาจจะมีบ้างเช่น “ตรงนี้พี่ว่ามันกัดนิดหน่อยน่ะ” (เช่นเพลงของ AF ที่จะใช้ประกอบละครหลังข่าว) ซึ่งเราก็ต้องมาตีความเล็กน้อยและทำส่งให้ใหม่ทางเมล์เฉพาะจุดอีกที จากนั้นจึงส่ง project ให้คนมิกซ์ไปทำต่อ การเรียบเรียงเพลงให้พี่บอยมักจะออกมาในรูป Musician Driven Style มากกว่า คือเป็นดนตรีแบบที่มีความสนุกโดยธรรมชาติจากการเล่นดนตรีสดของนักดนตรีแต่ละสไตล์ ซึ่งพี่บอยหรือโปรดิวเซอร์จะเข้าใจว่าใครเล่นสไตล์ไหน (ค่อนข้างเป็นนามธรรมมากแต่เราจะรู้กัน) และเลือกใช้นักดนตรีคนนั้น ดังนั้นจะไม่ค่อยมาจู้จี้มากว่าอยากได้อย่างโน้นอย่างนี้เพราะเป็นการเลือกสไตล์แล้วตั้งแต่ตัวคนเล่นนั่นเองครับ นี่เป็นวิธีที่ดีมากในการลดตำแหน่ง Music Director ได้เพราะผมคาดว่าด้าน Musical and Arranging (เรียบเรียงเพลง) เท่านั้นที่พี่บอยด์สื่อกับคนอื่นได้ยากเล็กน้อย ส่วนด้านอื่นเจ๋งหมด รวมทั้งด้านที่เป็น Key Success ของความสำเร็จนั่นคือ เนื้อเพลงที่ดังๆทั้งหลายเจ้าของค่ายอย่างพี่บอยแต่งเอง
วิเคราะห์ บอย โกสิยพงษ์ กับ Music Business
ใครได้เห็นมาดพี่บอยเมื่อสมัยที่พี่เค้ายังไม่ดัง อาจจะงงๆว่านี่หรือคือนักแต่งเพลงและเจ้าของค่ายผู้ยิ่งใหญ่ ที่เปลี่ยนยุคของเพลงไทยได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ( เรื่องของการเปลี่ยนผ่านบริษัท Bakery จนถึง Love is ในปัจจุบัน แนะนำให้อ่านหนังสือ “Bakery & I” โดยพี่สุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์ ) ความจริงแล้วพี่บอยจบการศึกษาด้านการแต่งเพลง และธุรกิจเพลงจาก UCLA (University of California at Los Angeles) ซึ่งเป็น U Top Ten ของอเมริกาทีเดียว ดังนั้นทางเดินของพี่บอยจนถึงวันนี้นั้นไม่ได้เดินไร้ทิศทางหรือสะเปะสะปะแน่นอนครับ และการเดินพลาดของพี่บอยในช่วงเบเกอรี่-Sony BMG นั้นก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ความผิดพลาดในสายตาของผมด้วยซ้ำ
จาก Bakery ถึง Love iS ประวัติของพี่บอยใน wikipedia
บริษัทเบเกอรี่มิวสิค เติบโตเรื่อยมาจนกระทั่งประสบปัญหาทางการเงินจนต้องเข้าร่วมกิจการกับบริษัทบีเอ็มจีมิวสิค(ประเทศไทย) และภายหลังในปี พ.ศ. 2547 บริษัทแม่ของบีเอ็มจีที่ต่างประเทศได้ควบรวมกิจการกับบริษัทโซนีมิวสิก ส่งผลให้บริษัทเบเกอร์รี่มิวสิคที่เข้าร่วมกิจการกับบริษัทบีเอ็มจีมิวสิค(ประเทศไทย) ต้องเข้าร่วมกับบริษัทโซนีมิวสิก(ประเทศไทย)ไปโดยปริยาย และเบเกอร์รี่มิวสิค ต้องกลายเป็นค่ายเพลงย่อยของโซนี่มิวสิค ผู้บริหารของเบเกอร์รี่มิวสิครวมถึงบอยเองจึงลาออกจากเบเกอร์รี่มิวสิค ต่อมาบอยและสุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์ ได้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลงใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อ เลิฟอีส แต่ต่อมาค่ายเพลงเลิฟอีส ได้ปรับมาเป็นบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์
ยุคแห่งการสื่อสารปัจจุบันทำให้ทุกคนมีแนวโน้มที่จะสร้างชื่อเสียงกันแบบปัจเจกมากขึ้น (เช่นเดียวกับบริษัทขนาดเล็กมีจุดแข็งมากขึ้น) พี่บอยน่าจะมองเห็นแนวโน้มที่ว่า ถ้าเจ้าของบริษัทมีชื่อเสียงล่ะก็ อย่างไรกลุ่มก้อนของธุรกิจรวมทั้งเจ้าของก็ไปรอด ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือไม่ก็ตาม เช่น Bakery เปลี่ยนเป็น Love iS ก็ไม่ได้มีผลอะไรเพราะ Branding อยู่ที่พี่บอยนั่นเอง หรือถึงแม้อนาคต TRUE จะมาควบรวมบริษัทก็ไม่มีผลอะไรเพราะอย่างไร Branding ไปกับพี่บอย ไม่ได้ไปเป็นของ TRUE ดังนั้นอัลบั้มของพี่บอยตั้งแต่ชุดแรกจึงมาในแนวรวมนักร้องนั่นเองครับ เนื่องจากอัลบั้มที่รวมนักร้อง Awareness จะไม่ได้อยู่ที่นักร้องทั้งหมด แต่อยู่ที่คนแต่งเพลงซึ่งคือพี่บอยนั่นเอง ในยุคนั้น Grammy ยังดันนักร้องเป็นคนๆอยู่ซึ่งศิลปินนั้นก็มี Life Cycle และต้องพึ่งระบบบริษัทเยอะมากทำให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันน้อยลงทุกทีๆ ในขณะที่ Value หลักของเพลงที่ดังๆนั้นพี่บอยเป็นคนแต่ง นักร้องที่นำไปร้องก็จะนำเสนอให้เพลงของพี่บอยดังขึ้นด้วยครับ สำหรับศิลปินเดี่ยวและกลุ่มแน่นอนว่าก็มีหลายคนที่ออกอัลบั้มในสังกัด Bakery และ Love iS และทุกคนนั้นมักจะมี “เพลงที่พี่บอยแต่งให้” ในอัลบั้มเป็นประจำ เมื่อมีการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ของพี่บอย ศิลปินเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาร้องเพลงของพี่บอยทุกครั้งนั่นเองครับ ซึ่งหลังๆ Grammy ถึงได้มีการจัดคอนเสิร์ตที่เน้นนักแต่งเพลงกันบ้างมากขึ้นแต่อย่างไรอากู๋ ก็ไม่ได้เป็นคนแต่งเพลงอยู่ดี

มาถึงในระยะหลัง Awareness ของ Brand นักร้องบางคนนั้นสูงมากเช่นพี่ป๊อด พี่บอยด์ต้องการทำอัลบั้มเดี่ยวโดยให้พี่ป๊อดร้อง (ไม่ได้รวมนักร้องเหมือนทุกที ) จึงควรใช้ชื่อ BoydPod นั่นเองครับ สำหรับพี่นพซึ่งเป็นนักร้องคู่บุญของพี่บอย พี่บอยได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า “เสียงของคุณ นพ เป็นกลางและนำเสนอเพลงพี่บอยได้ดี” ก็คือเสียงพี่นพเป็นนักร้องที่ ไม่มีคาร์แร็กเตอร์ที่ทำให้ผู้ฟังเสียสมาธิและมุ่งความสำคัญไปที่ความหมายของเพลงของพี่บอยด์นั่นเองครับ ในขณะที่นักร้องคนอื่นอย่างเช่นพี่ป๊อดนั้นเป็นนักร้องมืออาชีพตั้งแต่สมัยเรียน (สวนกุหลาบ ต่อ ครุศาสตร์จุฬาฯ) ดังนั้นจะมีเทคนิคนานัปการในการเรียกความสนใจด้วยเสียงร้องกับคนดู ทำให้บางครั้งคนดู อินกับนักร้อง ไม่ได้ อินกับความหมายของเพลงนั่นเอง (อัลบั้ม BoydPod จะเห็นว่าพี่ป็อดร้องเรียบมากเพื่อให้คนฟัง Concentrate ที่เนื้อเพลง) ในขณะที่พี่นพนั้นไม่ได้เป็นนักร้องมืออาชีพตั้งแต่เริ่มต้นและมาสายอาชีพปกติมากกว่า ( พี่นพเรียน เตรียมอุดม ต่อด้วยวิศวะมหิดล และศึกษาต่อต่างประเทศในสาขา Business Administration ที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ )
ปัจจุบันบริษัท Love iS นั้นเป็นบริษัทไม่ใหญ่มาก พนักงานประจำไม่กี่คน เป็นลักษณะบ้านในซอยทองหล่อ ซึ่งสเกลขนาดนี้และพนักงานแต่ละคนที่มีประสิทธิภาพและรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กรทำให้ผมรู็เลยว่า Love iS นั้นสามารถอยู่ได้สบายด้วย Brand ส่วนตัวของพี่บอยครับ ส่วน Product ในเชิง Production นอกจากอัลบั้มแล้วก็เป็นด้าน Marketing ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงให้องค์กรต่างๆที่มีราคาหลายแสนบาท เช่น GM Thailand และ ปตท เพลงที่ดังที่สุดก็คือเพลง “เรื่องจริง”ของ Canon นั่นเอง (ดังทั้ง Canon และ Boydpod เลย) รวมถึงเป็น Presenter แบบ Win-Win ให้กับแอร์ยี่ห้อหนึ่ง และยังมีอีกหลายอย่างที่แบรนด์ “พี่บอย”สามารถขายได้เสมอ
เพลงเรื่องจริง ได้ประโยชน์ทั้ง Canon และ อัลบั้ม BoydPod เลยทีเดียว
ผมในฐานะ TiGERiDEA กับพี่บอย โกสิยพงษ์
เมื่อสองปีก่อนในช่วงที่ TiGERiDEA ยังอยู่ที่ RCA ได้มีโอกาสนำเสนองานกับ TRUE หลายครั้ง งานที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการร่วมงานกับบริษัทผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น BeboydCG ในการผลิต Presentation เพื่อนำเสนอโปรเจ็ค TRUE Clicklife ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งในการรุกคืบโปรเจ็คด้านการศึกษาของ TRUE
สำหรับบริษัทนี้ในครั้งแรกพี่บอยร่วมตั้งขึ้นกับผู้ถือหุ้นเพื้อผลิตการ์ตูนและอนิเมชั่นทางทีวี ตอนที่ผมไปมีการบริหารโดยพี่บูซึ่งเป็นน้องพี่บอย และมีผลงานทำหนังเรื่อง นาค ภาคการ์ตูน โดยเป็นบริษัทโปรดักชั่นเต็มรูปแบบและมี Graphic Design ,Animator หลายสิบคน เท่าที่ผมมองในฐานะเคยเป็นบริษัท Production House เช่นกันก็รู้สึกว่าบริษัทนี้แบก Cost หนักมากแน่นอน ลำพังพี่บอยกับพี่บูน่าจะแบกกันในระยะยาวลำบาก ผมคาดว่าด้วยจังหวะประจวบเหมาะกับ TRUE นั้นต้องการบริษัทผู้ผลิตคอนเท้นท์และพี่บอยเป็นเพื่อนกับคุณศุภชัยประกอบกับความสามารถในเชิงธุรกิจ ทำให้ TRUE เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ (ประมาณ 60-70%) และปัจจุบันกลายเป็น TRUE- Beboyd CG และทรูได้ส่ง Project Manager ที่มีความชำนาญในเรื่องการทำคอนเท้นท์และการสอนเด็ก เข้ามาดูแลงานผลิตโครงการการศึกษานี้ด้วยครับ
การทำอนิเมชั่นเสนอทีมคุณศุภชัยนั้นก็เป็นไปอย่างเร่งด่วนโดยครั้งแรกๆนั้นน้องชายของคุณบอยและผู้ดูแลโครงการจากทางทรูได้ดูแลผมตลอด แต่ในขั้นการเคาะราคานั้นเป็นทางพี่บอยนั่นเองครับ หลังจากผมคิดค่า animate และ studio เรียบร้อยเพื่อพาเด็กเข้าไปนั้นพี่บอยเห็นราคาก็ขอลดทันทีด้วยถ้อยคำสั้นๆจนผมตั้งตัวไม่ติด “พัช พี่ขอลดหน่อยนะ” ดีลจึงมาลงที่ผมลดราคานิดหน่อยและในส่วนของ Animation ได้ทีมงาน BeboydCG มาช่วยทำด้วยครับซึ่งเป็นดีลที่น่าสนใจเพราะไม่น่ามีเวลา Revise เท่าไหร่ จากนั้นในวันตัดวีดีโอ พี่บอยได้เข้ามาดูที่ออฟฟิส TiGERiDEA ด้วยตัวเองหนึ่งครั้งด้วย สร้างความแตกตื่นเล็กน้อยกับน้องๆเล็กน้อยครับ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผมรู้ว่าพี่บอยน่าจะซีเรียสเรื่องเสียง ผมเลยทำเพลงประกอบที่ดัดแปลงจากเพลงธีม ClickLife มาเล่นเป็น Bebop แบบเร็วๆครับ พี่บอยน่าจะชอบอยู่บ้างเลยปล่อยผ่านอย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้นก็มีการบริหารหลายอย่างของพี่บอยจนเกิดดีล TRUE Clicklife ขึ้นมา ปีนี้ปีที่สองแล้วครับ ถ้าทำต่อเนื่องน่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในมุมมองของผมพี่บอยดีลงานทางธุรกิจได้ดีเช่นกันเพียงหา win-win ทุกฝ่ายให้เจอ จากนั้นตอกยำ้ด้วย brand ของตัวพี่บอยสั่งสมมาอย่างแข็งแกร่ง ในกรณีที่ยากลำบากก็ยังมีวิธีถอยดูเชิงที่ดี ซึ่งผมคิดว่าเป็นกรณี TRUE ซื้อหุ้น BeboydCG นี่เอง ในเรื่องการดูแลคน ศิลปินเด็กๆหลายคนอาจจะไม่เข้าใจพี่บอยอยู่บ้างตามสไตล์ศิลปินไม่เคยทำธุรกิจ แต่ผมก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมากนะครับถ้าเทียบกับปัญหาในค่ายอื่นๆ ( ศิลปินเด็กๆของค่าย Love iS หลายคนมีฐานะทางบ้านดีมากเป็นทุนอยู่ครับ บางคนก็ไม่ซีเรียสเรื่องเงินเท่าไหร่ ) ส่วนการจ่ายเงินของ Love iS นั้นเป็นระบบมาก และจ่ายเร็วช้าตามความสามารถในการทำเงินของโปรเจ็คแยกกันอิสระด้วยเหมือนกัน แต่ในส่วนของนักดนตรีนั้น Love iS จ่ายสดหลังงานเสร็จทุกครั้งครับซึ่งทำให้ไม่มีปัญหาระยะยาวนั่นเอง
สรุปก็คือผมคิดว่า พี่บอยเป็นบุคคลที่ผมชื่นชมในฐานะนักธุรกิจดนตรีและนักกิจกรรมบันเทิงแห่งทศวรรษเลยทีเดียว เค้าเคยถือว่าเหมือนจะล้มมาแล้วครั้งหนึ่งการรับรู้ของสังคมแต่ยังลุกยืนหยัดได้อีกครั้งซึ่งทำให้เกิดจุดแข็งในการเรียนรู้ครั้งสำคัญ พี่บอยยังมี Personality ที่“ธรรมดาจนโดดเด่น”อีกด้วย ซี่งความสามารถในการวางตำแหน่งตัวเอง สร้าง Brand โดยได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและการมองอนาคตทางวงการดนตรีนั้นถือได้ว่าตอนนี้ยอดเยี่ยมและสอดรับกับสังคมยุคใหม่มากครับ อย่างไรก็ตามพี่บอยอาจจะบอกมาว่าทุกอย่างเกิดโดยธรรมชาติจริงๆก็ได้ แต่ผมก็จะบอกว่ามันคือธรรมชาติของนักธุรกิจที่ดีครับ 😀
โพสที่จะเขียนต่อไป :
1. Love iS ลุย Social Media ศิลปินมี twitter account กันหมด
2.TiGERiDEA ได้รับงานอนิเมชั่นของ TRUE Clicklife ในปีแรกด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นงานที่เราไม่เป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่ายเท่าไหร่นัก ผมจะได้กล่าวถึงใน Case Study TiGERiDEA ในการทำงานกับ TRUE ในเวลาต่อไปครับ Case นี้น่าจะได้ความรู้ทีเดียวสำหรับผู้ต้องการบริหารโครงการและการบริหาร Freelance