วิธีจ่ายภาษี ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีรายได้หลายทาง

เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่ผมจ่ายภาษีโดยใช้แบบ ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีรายได้หลายทาง เพราะไปบรรยายที่โน่นที่นี่ และยังมีเล่นดนตรีรับเงินแทนเพื่อนอีกจนมึนและเอกสารมีเยอะไปหมดครับ เลยขอบันทึกไว้ อาจมีจุดไม่ค่อยถูกต้องแต่ก็หาข้อมูลจากบุคคลรอบข้างมาพอสมควรครับ ถ้าท่านไหนมีข้อมูลเพิ่มเติม รบกวนบอกด้วยนะครับ 🙂

สำหรับผู้ที่เป็นพนักงานได้รับเงินเดือนตามปกติ ผมเคยเขียนโพสไว้แล้วอย่างละเอียดครับเกี่ยวกับ วิธีจ่ายภาษีภงด 91 บุคคลธรรมดา?เข้าไปดูได้เลย

ลงทะเบียนยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้ยังไม่เคยจ่ายภาษี online เลย

อันนี้ผมเขียนไว้ละเอียดแล้วที่ วิธีจ่ายภาษี ภงด 91 บุคคลธรรมดา ขั้นตอนเหมือนกัน ลองอ่านกันได้ครับ

การเตรียมตัวก่อนจ่าย ต้องเตรียมใบ 50ทวิ ให้พร้อม

อย่าลืมรวบรวมใบหัก ณ ที่จ่ายที่หรือ 50 ทวิ ทั้งรอบปีมาไว้ก่อนเพื่อความสะดวก (ต้องทวงทุกครั้งที่มีคนจ่ายเงินคุณนะครับ) และรวบรวมเอกสารประกันชีวิตทั้งหมด รวมทั้งใบอนุโมทนาบัตรมาไว้ด้วยเพื่อเตรียมหักภาษี ฯลฯ

หน้าตา 50ทวิ ที่ต้องขอจากคนที่จ่ายเงินคุณทุกครั้ง
หน้าตา 50ทวิ ที่ต้องขอจากคนที่จ่ายเงินคุณทุกครั้ง

50 ทวิที่สมบูรณ์จะมีชื่อเรา ชื่อคนจ่ายเงิน และหมายเลขผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินครบดังรูปด้านบนครับ(มุมขวาบน) ส่วนด้านล่างก็มีรายละเอียดเรืองรายได้ที่ให้เรา มีภาษีที่หักเก็บไว้แล้วซึ่งเราต้องนำมาใส่ในช่องภาษีที่หักและนำส่งเช่นกัน ส่วนใหญ่มักจะหักกันไว้แล้วครับ แต่ก็มีบางที่ที่ไม่ได้หักไว้เป็นส่วนน้อยเช่นกัน

การจ่ายภาษี ภ.ง.ด. 90 online

เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร สำหรับ ภ.ง.ด. 90 https://rdserver.rd.go.th/cgi-bin/main/member/send_pnd9091.pl จะเห็นว่าเป็นทางเข้าทางเดียวกับ ภงด 91 เพราะปีนี้อัพเดทให้ระบบตรวจสอบรายได้อัตโนมัติแล้วครับ

ลงทะเบียนโดยใช้เลขบัตรกับรหัส
ลงทะเบียนโดยใช้เลขบัตรกับรหัส

เมื่อเข้ามาจะพบช่องให้กรอกหมายเลขผู้ใช้ กับรหัสผ่านที่เราได้สมัครไว้แล้วข้างต้นครับ โดยปกติหมายเลขผู้ใช้ก็คือหมายเลขบัตรประชาชนของคุณนั่นเองครับผม

กดตกลงแล้วระบบจะพาเรามาที่หน้านี้ ซึ่งด้านซ้ายจะมีรายละเอียดที่เราเคยลงไว้แล้ว ถ้าสมรสแล้วให้ใส่รายละเอียดของภรรยาด้านขวาด้วยครับ จากนั้นเลือกว่าจะยื่นรายการภาษีรวม หรือว่ามีเงินได้แยกยื่นแบบ

ระบบพาเรามาหน้านี้ โดยปกติมักไม่ต้องแก้ไขอะไรนอกจากสถานภาพ โสดหรือสมรสหรือแยกยื่น
ระบบพาเรามาหน้านี้ โดยปกติมักไม่ต้องแก้ไขอะไรนอกจากสถานภาพ โสดหรือสมรสหรือแยกยื่น

เข้าสู่ขั้นตอนการลงรายละเอียดรายได้และค่าใช้จ่าย

เมื่อกดเข้าสู่ขันตอนการยื่นแบบ จะพบกับ tab ด้านบนเรียงเป็นตับดังรูป ซึ่งถือว่าซับซ้อนกว่า ภ.ง.ด. 91 เยอะพอควรครับ แต่ละ tab จะมีการป้องกันกันเองตามสมควรให้สมราคาค่าทำระบบยื่นภาษีหลายร้อยล้านบาทหน่อย 😛 อย่างไรก็ตามให้ใจเย็นๆครับ ค่อยๆดูไปทีละอย่าง

ความหมายของเงินได้มาตรา 40 ประเภทที่ 1-8 นั้นสามารถดูได้ที่เว็บสรรพากรซึ่งดูแล้วก็อาจจะงงนิดหน่อยอยู่ดี -_- ยังไงลองทยอยกดดูที่ละ tab ก็จะเข้าใจครับหรือที่เว็บ http://www.oknation.net/blog/k-weplan/2012/03/28/ ก็อธิบายได้กระชับดีตามด้านล่าง

  • ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าเบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ ต้องเป็นลักษณะเหมาจ่าย
  • ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เบี้ยประชุม เป็นต้น (แตกต่างจากประเภทที่ 1 คือ ประเภทที่ 2 เน้นความสำเร็จของงาน กล่าวคือ งานที่ตกลงทำต้องทำเสร็จจึงจะได้รับเงินได้ เป็นต้น) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ ต้องเป็นลักษณะเหมาจ่าย
  • ประเภทที่ 3 ได้แก่ เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ ค่ากู๊ดวิลล์ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ ต้องเป็นลักษณะเหมาจ่าย
  • ประเภทที่ 4 ได้แก่ เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ ต้องเป็นลักษณะเหมาจ่าย
  • ประเภทที่ 5 ได้แก่ เงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน ผิดสัญญาเช่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ จะเป็นลักษณะเหมาจ่ายหรือตามที่จ่ายจริงก็ได้
  • ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น หมอ นักบัญชี นักกฎหมาย สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ จะเป็นลักษณะเหมาจ่ายหรือตามที่จ่ายจริงก็ได้ (เสริม ต้องมีใบประกอบวิชาชีพด้วยนะครับ เช่นวิศวกรคอมพิวเตอร์ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเหมือนโยธา เลยใช้ข้อนี้ไม่ได้)
  • ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมา (มีการเตรียมจัดหาสัมภาระในการก่อสร้างเอง) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ จะเป็นลักษณะเหมาจ่ายหรือตามที่จ่ายจริงก็ได้
  • ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ เกษตรกรรม หรือ อื่นๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์เงินได้ประเภทที่ 1-7 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักเงินได้เพื่อคำนวณเงินได้สุทธิ จะเป็นลักษณะเหมาจ่ายหรือตามที่จ่ายจริงก็ได้

ช่อง มาตรา 40 tab 40(1)(2)

เช่นถ้าคุณมีเงินได้ที่เป็นเงินเดือนรวมอยู่ด้วย ก็เอา 50ทวิส่วนที่เป็นเงินเดือนมากรอกใน tab 40(1)(2) ก่อนเลย โดยกรอกใน (1) อันบนสุดครับ ตรงที่เขียนว่า มาตรา 40(1) ได้แก่ผู้มีเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ฯลฯ ช่องแรกเป็นเงินเดือนรวมทั้งปี (เช่นปี 2554) และช่องถัดมาก็เป็นเงินที่เค้าหักและนำส่งไปแล้ว

หน้าสำหรับกรอกเงินได้มาตรา 40(1)(2)
หน้าสำหรับกรอกเงินได้มาตรา 40(1)(2)

ซึ่งถ้าเลือกกรอกมาก่อนหน้านี้ว่า “เงินได้แยกยื่นแบบ” ช่องคู่สมรสมันจะใส่อะไรไม่ได้อยู่แล้วครับ รวมทั้งช่องให้เฉลี่ย/ไม่เฉลี่ยค่าใช้จ่าย ก็จะติ๊กไม่ได้เหมือนกัน(เป็นสีเทาๆ inactive) ทำให้ไม่งงดี แต่ถ้ายื่นร่วมกันก็ต้องใส่ทั้งสองอันเลยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สามีภรรยาก็ต้องมาสุมหัวกันเปิดโปง เอ้ย เปิดเผยข้อมูลรายได้ของกันและกัน 😛

ทีนี้อาจมีคำถามว่าเราควรจะสมรสดีมั้ย? คำตอบคือ ถ้าในสถานการณ์ปกติ การยื่นแบบด้วยกันจะช่วยเฉลี่ยรายได้ครับ ทำให้อาจช่วยดึงภาษีลงมาได้ไม่ให้คนใดคนนึงข้ามขั้นภาษี (โดยเฉพาะถ้ามีคนใดคนนึงไม่มีรายได้จะช่วยลดภาษีได้มาก) แต่ถ้ามีคนใดคนนึง”รวยมากผิดปกติ” เค้าจะนิยมไม่สมรสกัน เพราะโดยปกติคนรวยมากมักมีหนทางมารที่จะจ่ายภาษีได้น้อยด้วยตัวคนเดียวอยู่แล้ว -_-”

ส่วนของ มาตรา 40 (2) ที่อยู่ถัดลงมาเป็นช่องสำหรับผู้ให้บริการหรือรับจ้างต่างๆใส่ก็ได้ครับ คือไม่ใช่เงินเดือนแต่ไปรับงานเป็นครั้งๆ หรือเป็นเงินเดือนอีกที่ก็นำมาใส่ได้ ส่วนผมเนื่องจากตนเองมีรับเงินเดือนของการเป็นคณะกรรมการแห่งนึงไว้ด้วยจึงนำรายได้มาใส่ที่ช่องนี้ด้วย และเกิดปัญหาช่องไม่พอทำให้ต้องไปใส่เพิ่มที่มาตรา 40(8) แทน +_+

ช่อง มาตรา 40 tab 40(4)

ช่องนี้ก็สำหรับคนที่เล่นพวกกองทุนต่างและได้เงินปันผลครับ เช่นได้เงินปันผลจากกองทุนรวม ก็นำมาใส่ครับ

รายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) ดอกเบี้ยและเงินปันผล
รายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) ดอกเบี้ยและเงินปันผล

ช่อง มาตรา 40 tab 40(8) ช่องจับฉ่ายครับ

ช่องนี้สนุกมาก คือผมงงกับช่องอื่นๆว่ามันคืออะไร ก็เอามาใส่ในช่องนี้เลยครับ ^_^ สังเกตว่าแต่ละรายการหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากันด้วยอ่า เช่นอันแรกลองกด dropdown รายการให้ยืดลงมา จะพบว่ามีประเภท”รายได้จากการแสดง” ซึ่งหักภาษีแบบ default ได้ 60% ถือว่าต่ำสุดแล้วในหน้านี้ครับ (คาดว่าเพราะไม่มีต้นทุนเป็นรูปธรรมเหมือนการขายของ) พอไล่ไปอันอื่นพบว่าหักได้มากกว่าเช่น 70% 80% แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งคิดว่าจะเอา 50ทวิที่คุณได้มามาเข้าประเภทที่หักค่าใช้จ่ายได้เยอะนะ ก่อนจะหักอะไรลอง search google ดูก่อนจ้า เช่นตอนแรกผมว่าจะชี้แจงเรื่องรับเขียน blog ราคา 40000 ตาม 50ทวิด้านบนที่โชว์อยู่แทนเล่นค่าจ้างเล่นดนตรี เลยว่าจะลงที่”วรรณกรรม”ซึ่งหักเยอะที่ได้ 75% แต่พอลอง search google ว่า “ภาษี มาตรา 40 วรรณกรรม” ดูพบว่าคนที่ลง”วรรณกรรม”โดนตรวจสอบยุ่งยากกันหมดเลย >_< ลองดูความคิดเห็นที่ 1 ของกระทู้นี้

สรุปมาลงที่เล่นดนตรีเหมือนกัน แถมค่าบรรยายผมก็ไม่รู้จะลงไหนเลยเอามาลงที่การแสดงเหมือนกัน… (ลุ้นโดนเรียกตรวจอีกที แต่ดูแล้วมันเล็กน้อยมาก)

ช่องภาษีจับฉ่าย มาตรา 40(8)
ช่องภาษีจับฉ่าย มาตรา 40(8)

แต่อย่างไรศึกษาเพิ่มเติมด้วยนะครับ เห็นบางที่บอกว่าช่องมาตรา 40(8) ต้องมีจ่ายกลางปีด้วย 😕

ช่องผู้จ่ายเงินได้

อันนี้ถ้าคุณกรอกรายได้ครบแล้ว ระบบมันจะสรุปให้เองว่าค่าอะไรจากประเภทอะไรบ้าง หน้าที่ของคุณคือดูใบ 50ทวิแล้วเอา เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร มุมขวาบนมากรอกให้ครบถ้วนครับ

ช่องใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคนที่จ่ายเงินให้คุณ ใ่สให้ครบถ้วนครับ
ช่องใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคนที่จ่ายเงินให้คุณ ใ่สให้ครบถ้วนครับ

อ้าว แล้วถ้าช่องไม่พอกรอก เพราะมีแหล่งรายได้หลายทาง จะทำไงล่ะ?

อันนี้ผมและเพื่อนๆก็ประสบปัญหาเหมือนกันครับ ผมเองใช้วิธีกระจายรายได้ไปมาตรา 40(8) แต่บางคนเลยใช้วิธีรวมรายได้ทุกตัวมาไว้ที่ช่องมาตรา 40(2) ให้หมดซะเลย ส่วนหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในช่องผู้จ่ายเงินได้ ก็เหมาให้เจ้านึงเป็นผู้โชคร้ายไปครับ -_-”

อัพเดท จาก comment FB คุณแอ้ ด้านล่าง เจ้าหน้าที่บอกเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2556 ว่าให้ระบุแค่หมายเลขเดียวเนื่องจากเป็นการอ้างอิงเท่านั้น ไม่มีผลต่อการคำนวณภาษี

ช่อง ลดหย่อนและคำนวนภาษี

อันนี้ก็รวบรวมใบค่าใช้จ่ายต่างๆที่หักภาษีได้มาใส่ครับ เช่นประกันชีวิตรายปี กองทุนสำรอง เงินบริจาค ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดในการใส่เหมือน ภ.ง.ด.91 ที่ผมเคยเขียนไว้ละเอียดแล้ว กดดูได้ครับ

ช่อง สรุปภาษีที่ชำระ

หลังจากใส่ช่องลดหย่อนแล้วก็มาดูที่สรุปภาษีครับ อันนี้ก็คล้ายๆ ภ.ง.ด.91 ที่ผมเคยเขียนไว้ละเอียดแล้ว กดดูได้ครับ ส่งแบบแล้วสามารถจ่ายภาษีได้หลายรูปแบบมากๆทั้งบัตรเครดิต (SCB เท่านั้น) และจ่ายตามตู้ ATM ฯลฯ

ภาพตารางการเสียภาษี

ตารางคร่าวๆแบบง่ายๆ ต้องเสียภาษีเท่าไร

ตารางภาษี อัพเดทใหม่จากนโยบายรัฐบาล 2555
ตารางภาษี อัพเดทใหม่จากนโยบายรัฐบาล 2555

เทียบอัตราส่วนภาษีที่ต้องจ่ายต่อเงินเดือน

อัตราภาษีก้าวหน้าที่ต้องจ่ายต่อเงินเดือน
อัตราภาษีก้าวหน้าที่ต้องจ่ายต่อเงินเดือน

โชคดีในการจ่ายภาษี ภ.ง.ด. 90 ทุกท่านนะครับ 🙂