วิธีจ่ายภาษี online ภ.ง.ด. 91 บุคคลธรรมดา

พอถึงช่วงจ่ายภาษี คนเมืองก็มักจะบ่นและเป็นเหตให้เริ่มสนใจการเมืองว่านำเงินของเราไปทำอะไรบ้าง แถมบางคนยังค่อนขอดว่าคนต่างจังหวัดจ่ายภาษีน้อยกว่าอีกด้วย ความจริงแล้วคนเมืองก็ใช้ภาษีเปลืองกว่ามาก เช่น การศึกษา สาธารณูปโภค รถไฟฟ้า และที่คุณนึกไม่ถึงอย่างเช่นค่ากระแสไฟฟ้าที่เราใช้กันนั้นรัฐมีการใช้ภาษีไปช่วยเหลืออยู่ไม่ให้แพงเกินไป และคนเมืองก็ใช้ไฟกันอย่างกระหน่ำ ( ห้างพารากอนห้างเดียวใช้ไฟเป็นสองเท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ) แต่ภาษีที่ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องจ่ายอย่างเท่าเทียมกันนั้นคือ Vat 7% นั่นเอง

ส่วนสาเหตที่เขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพราะตัวเองลืมวิธีจ่าย ภ.ง.ด. 91 เองทุกปีเลยครับ 🙂

ช่วงเวลาที่ต้องยื่นภาษี

โดยปกติต้องจ่ายก่อน31 มีนาคมของทุกปีนะครับ ช้ากว่านั้นก็จะถูกปรับได้ (สำหรับปี 2556 อนุโลมให้ถึงวันที่ 8 เมย)

จ่ายภาษี ทำไง ใครต้องยื่นภาษี ?

ผู้มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาทุกคนต้องยื่นภาษี และสำหรับผู้ที่ต้องจ่ายภาษีเองโดยบริษัทไม่ได้บริการให้ ( ปกติบริษัทที่บริการจัดการภาษีให้พนักงาน บางทีเค้าเอารายได้เราไปหมุนภาษีบริษัทครับ ) การยื่นแบบสามารถยื่นได้ทุกคนแม้คนที่เงินเดือนไม่ถึง 20,000 ครับ ( ถ้าคนเงินเดือนไม่ถึงจะทำให้ภาษีเป็น 0 บาท และจะได้ภาษีคืนด้วยครับ ) ส่วนการจ่ายก็สามารถยื่นส่งแบบผ่านเว็บไซต์ได้เลย (ภงด 91 สำหรับรายได้ที่เป็นค่าจ้าง เงินเดือน (เงินได้ตามมาตรา 40(1)) เท่านั้นนะ ถ้ามีเงินได้มาตรา 40 (วงเล็บอื่น) ต้องใช้ ภงด 90 นะคร้าบ ดูที่ วิธีจ่ายภาษี ภงด 90 สำหรับผู้มีรายได้หลายทาง

ขั้นตอนการยื่นภาษี

เตรียมเอกสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษีและรายได้ให้พร้อม

โดยปกติแล้ว บริษัทที่ให้เงินคุณควรมีการสรุปที่เค้าเรียกกันว่าแบบ 50ทวิ หรือใบรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50ทวิ ให้ครับ เพราะโดยส่วนมากบริษัทมักหักภาษีคุณไปเรียบร้อยแล้วตอนจ่ายเงินให้คุณ ถ้ายังไม่ได้ใบนี้ลองถามหาจากบริษัทคุณนะครับ หรือในกรณีเป็น freelance เมื่อคุณได้รับเงินและมีการ “หักภาษี” เกิดขึ้น คุณต้องทวงใบหัก ณ ที่จ่ายใบนี้ด้วยทุกครั้งเพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบการยื่นและขอคืนภาษี

สำหรับเอกสารภาษีสำหรับคนที่มีรายได้ซับซ้อนและได้ไม่สม่ำเสมอ ( เช่นนักดนตรี, ศิลปิน, Freelance ) ก็ควรหาแฟ้มมาเก็บเอกสารต่างๆใว้สักใบน่าจะดีกว่านะครับ ไม่งั้นพอจะจ่ายทีหาเอกสารไม่เจอ เดี๋ยวจะงงๆ

ตัวอย่างแบบฟอร์ม 50ทวิ
ตัวอย่างแบบฟอร์ม 50ทวิ

นอกจากนี้ยังมีเอกสารพวกประกันชีวิต หรือแม้กระทั่งใบอนุโมทนาบัตรต่างๆ ก็สามารถนำมาใส่ลดหย่อนได้เช่นกัน เค้าจะมีเปอร์เซ็นลดหย่อนของเค้าครับ นี่อาจเป็นสาเหตทำให้ มูลนิธิต่างๆยังคงอยู่และมีคนฐานะดีบริจาคอยู่เรื่อยๆ 😛

เอกสารที่เราจ่ายค่าเบี้ยประกันต่างๆ อันนี้มีใบสรุปภาษีมาให้ครับ
เอกสารที่เราจ่ายค่าเบี้ยประกันต่างๆ อันนี้มีใบสรุปภาษีมาให้ครับ

นอกจากนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่ของคุณไม่มีรายได้ ก็สามารถใช้ลดหย่อนได้ด้วยเช่นกันครับ แต่สมมติว่าคุณมีพี่น้องที่ต้องจ่ายภาษีเหมือนกัน ก็ต้องแบ่งกันเองนะครับว่าใครจะใช้คุณพ่อมาลดหย่อนหรือใครจะใช้คุณแม่มาลดหย่อน อย่างไรก็ตามบางคนทำบริษัทแล้วเผลอเอาคุณพ่อคุณแม่ไปเป็นฟรีแลนซ์รับตังค์ให้เพื่อช่วยลดภาษี ก็จะทำลดหย่อนตรงนี้ไม่ได้นะครับ จะเห็นว่าระบบมันล็อคกันมาอย่างดี

ลงทะเบียนยื่นภาษี สำหรับผู้ยังไม่เคยจ่ายภาษี online เลย

สำหรับคนที่ลงทะเบียนแล้ว ข้ามไปขั้นตอนต่อไปได้เลยครับ

มือใหม่หัดยื่นให้เข้าไปที่ เว็บลงทะเบียน ภ.ง.ด. 91 https://rdserver.rd.go.th/cgi-bin/main/member/reg_onlinePND9091.pl

จะพบกับหน้าให้ลงทะเบียน ถ้าเป็นคนไทยก็คลิกสัญชาติไทยครับ
จะพบกับหน้าให้ลงทะเบียน ถ้าเป็นคนไทยก็คลิกสัญชาติไทยครับ

เมื่อกดคลิกสัญชาติไทยเข้าไปแล้วก็กรอกข้อมูลลงทะเบียนตามจริงดังรูป และระบบจะให้เลือกรหัสที่จะใส่ครับ

กรอกข้อมูลและรหัสให้ครบถ้วนนะครับ
กรอกข้อมูลและรหัสให้ครบถ้วนนะครับ

เมื่อทำเรื่องเสร็จแล้วจะได้รหัสมา ก็จะมาถึงขั้นตอนจ่ายภาษีต่อไป

การจ่ายภาษี online

เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร สำหรับ ภ.ง.ด. 91 https://rdserver.rd.go.th/cgi-bin/main/member/send_pnd9091.pl

ใช้รหัสบัตรประชาชนที่ช่องด้านบน และรหัสที่เราตั้งไว้แล้วที่ช่องด้านล่าง อย่าลืม mem ไว้สำหรับจ่ายปีต่อๆไปด้วยนะครับ แต่ถ้าลืมก็สามารถกด “ลืมรหัส” ได้เช่นกัน

คลิกด้านล่างสุด ลงทะเบียนที่นี่
ใช้รหัสบัตรประชาชนที่ช่องด้านบน และรหัสที่เราตั้งไว้แล้วที่ช่องด้านล่าง

ระบบจ่ายภาษีจะนำเรามาที่หน้าแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ที่หน้านี้ครับ

ระบบจะมีช่องให้เราสามารถกรอกข้อมูลแก้ไขได้ แต่ถ้าถูกต้องอยู่แล้วก็ไม่ต้องกรอกนะครับ สำหรับคนที่มีคู่สมรสแล้วก็ติ๊กด้านล่างว่า “สมรส” และใส่ชื่อคู่สมรสด้านขวาด้วย ถ้าเป็นพนักงานบริษัทกันทั้งคู่ และจะแยกกันจ่ายก็ติ๊ก ” (3) มีเงินได้แยกยื่นแบบ ” หรือถ้าภรรยาหรือสามีไม่มีรายได้ก็ติ๊ก ” (4) ไม่มีเงินได้ ” แต่หลายๆคนจะบอกว่าถ้าแต่งงานกันแล้วไม่มีลูก การยื่นแบบสมรสจะยุ่งและไม่ได้เปรียบคนที่ยื่นแบบโสดแต่อย่างใด บางคนเลยเลือกติ๊ก ” โสด ” ตัดปัญหา ( หรือเป็นการไม่ให้อีกฝ่ายรู้รายได้ก็ไม่รู้แฮะเพราะไม่ต้องมานั่งคุยกัน 😛 )

ใส่สถานะ โสด หรือสมรส(ต้องใส่รายละเอียดคู่สมรส) แล้วมาด้านล่างสุด ติ๊ก ตามรูปแบบ ภ.ง.ด.91
ใส่สถานะ โสด หรือสมรส(ต้องใส่รายละเอียดคู่สมรส) แล้วมาด้านล่างสุด ติ๊ก ตามรูปแบบ ภ.ง.ด.91

ด้านบนใส่สถานะ โสด หรือสมรส(ต้องใส่รายละเอียดคู่สมรส) แล้วมาด้านล่างสุดให้ติ๊ก “ตามรูปแบบ ภ.ง.ด.91จะกรอกง่ายกว่าแบบแบบ ภ.ง.ด.91 อย่างย่อ แล้วติ๊ก “ตกลง” ไปเลย ( สำหรับผู้ที่จะกรอกแล้วเก็บไว้กรอกอีก หรือต้องการเล่นโปรแกรมยื่นแบบ เค้าจะให้เลือก folder ในคอมพ์เพื่อเก็บไฟล์แต่ส่วนตัวผมว่ากรอกไปให้เสร็จเลยก็สะดวกดีครับ )

แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 91 ถ้างง ให้เริ่มใส่รายได้รวมที่ช่องที่ 1 ก่อนแล้วอย่างอื่นจะตามมา
แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 91 ถ้างง ให้เริ่มใส่รายได้รวมที่ช่องที่ 1 ก่อนแล้วอย่างอื่นจะตามมา

สำหรับคนที่จ่ายภาษีครั้งแรกเห็นช่องเต็มไปหมดขอบอกว่าอย่าเพิ่งถอดใจครับ ให้ลองใส่รายได้รวมทั้งปีที่ ช่องที่ 1 เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาณ ฯลฯ เสียก่อน ส่วนช่องอื่นๆมันจะคำนวนให้อัตโนมัติไม่ต้องเป็นห่วงครับ 🙂

ช่องกรอกภาษีที่ทุกคนควรสนใจ มีช่องใหญ่ๆ ก ข ค

ในช่อง ค. พอใส่ค่าลดหย่อนแล้วมันจะมารวมให้ในช่อง ก6
ก1 . เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ฯลฯ
ให้ใส่เงินเดือนรวมทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ในใบ 50 ทวิที่บริษัทออกให้ + งานที่เราไปทำและได้ตังค์เพิ่ม เช่นการบรรยาย หรือเล่นดนตรี หรืออื่นๆบางคนอาจมีปัญหาในกรณีที่บางบริษัทไม่ได้ออก 50 ทวิให้แต่ไปรับงานนอก ( เช่นนักดนตรีทำงานประจำ กลางคืนไปเล่นดนตรีแล้วเค้าจ่ายโดยหักภาษี ) ซึ่งบริษัทเหล่านี้มักห้ามคนทำงานทำงานนอกด้วย

ค7 . เบี้ยประกันชีวิต
สำหรับคนที่ทำประกัน ส่วนใหญ่ประกันจะอ้างเรื่องลดภาษีมาก่อนคุณจะทำประกันอยู่แล้วครับ แต่รายละเอียดจะมีเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยทุกปีนะครับ

ค8. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อันนี้ลองถามรายละเอียดจากบัญชี Hr บริษัทคุณเค้าน่าจะเก็บไว้ให้ บางบริษัทอาจไม่มีครับ

ก10. หักเงินบริจาค (ไม่เกินร้อยละ 10 ของ 9.)
อันนี้ถ้าเราไปบริจาคในวัด ซึ่งต้องเป็นวัดที่ได้รับการรับรองจะมีการระบุในใบอนุโมทนาบัตรว่าให้หักภาษีได้ครับ หรือจะบริจาคช่วยน้ำท่วมอะไรพวกนี้ก็หักได้เหมือนกัน ปกติจะหักได้ไม่เกิน 10% จากเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายหมดแล้ว ( แอบเห็นช่องบริจาคเพื่อการศึกษา แถวนี้ก็มีเยอะนะครับ 😛 เพียงแต่น้องๆอาจไม่มีใบเสร็จให้อะดิ )

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเรื่องลดหย่อนภาษี ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/41745.0.html

ค13 เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ส่วนนี้ให้ทุกท่านดูใน 50ทวิ จะมีแจ้งไว้ด้านล่างของเอกสารเขียนว่า “เงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม” ถ้าเงินเดือนประมาณ 20000 ก็จะเข้าประกันสังคมประมาณ 9000 บาท

ก15. หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
อันนี้ที่บอกว่าให้เก็บใบ หัก ณ ที่จ่ายไว้ในแฟ้มให้เป็นระเบียบ เราสามารถนำจำนวนเงินของการหักตังค์เราไปแล้วมาบวกกันทั้งปีแล้วใส่ในช่องนี้ครับ ถ้าใส่ไปทั้งหมดโดยปกติแล้วเรามักจะได้คืนภาษีนะ โดยมากคนที่เงินเดือนไม่ถึง 30,000 มักจะได้คืนภาษีครับ

หน้าตาหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตร 50ทวิ เงิน 12000 คือรายได้ที่เอาไปบวกที่ช่อง1 และ 600 คือภาษีหักที่จ่ายมารวมในช่อง13
หน้าตาหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตร 50ทวิ เงิน 12000 คือรายได้ที่เอาไปบวกที่ช่อง1 และ 600 คือภาษีหักที่จ่ายมารวมในช่อง13

ถ้าใส่หมดแล้วเรายังต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม ระบบจะทำการคำนวนให้อัตโนมัติ แต่ถ้าจะได้คืนภาษีระบบจะแสดงภาพและติ๊ก “ชำระไว้เกิน” ดังภาพนี้

ถ้าเป็นอย่างนี้จะได้ภาษีคืน 983 บาท
ถ้าเป็นอย่างนี้จะได้ภาษีคืน 983 บาท

ยกเลิก ลดหย่อน ค่าการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ

อ้อ ปีนี้ “ยกเลิก” ลดหย่อนค่าการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยนะครับ (ปีที่แล้วให้ได้ไม่เกินคนละ 15,000 หักได้ 10% ครับ รายชื่อโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยวที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้จากกรมสรรพากร )

ขอบคุณ Sia Theerawut จาก FB สำหรับความรู้ครับ

ยื่นแบบภาษี

หลังจากนั้นกดปุ่ม “คำนวนภาษี” ด้านล่างสุดครับ ซึ่งก่อนจะกดปุ่มผมอยากให้ทุกท่านทำการ Snap หน้าจอเก็บไว้ด้วยนะ อย่างของผมหน้าจอมันยาวลงมาก็เลื่อนๆลงมาแล้ว print screen เก็บไว้ก่อน เพราะว่าบางทีกดปุ่ม คำนวนภาษีแล้วระบบมัน Hang เด้งออกเฉยเลย ทำให้บางคนต้องมานั่งบวกกันใหม่ 🙁

พอคำนวนภาษีเสร็จแล้วจะเข้าที่หน้าผู้จ่ายเงินได้ของผู้มีเงินได้อันนี้

ใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทหลักที่จ่ายเงินให้เรา
ใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทหลักที่จ่ายเงินให้เรา

กรณีมีผู้จ่ายเงินได้ประเภทเดียวกันมากกว่า 1 ราย ( เช่น พนักงานบริษัทไปเล่นดนตรีข้างนอกหรือไปทำงาน Freelance ) ให้กรอกเลขประจำตัวของผู้จ่ายเงินได้รายที่จ่ายเงินได้สูงสุด นั่นคือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทท่านเพียงเลขเดียวเท่านั้นครับ โดยเลขดังกล่าวสามารถดูได้ในเอกสาร หัก ณ ที่จ่ายตามกฏหมาย 50 ทวิอีกเช่นกัน

เอาเลขจากช่องด้านขวาของเอกสาร 50 ทวิ ตรงนี้มากรอกในช่องด้านบนก่อนยืนยันแบบ
เอาเลขจากช่องด้านขวาของเอกสาร 50 ทวิ ตรงนี้มากรอกในช่องด้านบนก่อนยืนยันแบบ

เข้าสู่หน้าจอเพื่อยืนยันแบบ

เมื่อกดยืนยันแล้วจะเข้ามาสู่หน้าจอนี้

หน้าจอยืนยันแบบ
หน้าจอยืนยันแบบ

ในหน้านี้มันให้เราเช็ครายละเอียดเฉยๆครับ ไม่มีอะไร แต่ถ้าเลื่อนลงมาด้านล่างสุดของหน้าจะพบกับช่อง ” บริจาคภาษีให้พรรคการเมือง ” กับช่อง ” คำร้องขอคืนภาษี ” ซื่งเราจะบริจาคให้พรรคการเมืองก็ได้ครับ 100 บาท หรือจะไม่บริจาคก็ได้ ส่วนตัวผมก็บริจาคน่ะแหละเพราะถ้าเค้าตังค์น้อยก็ต้องหาตังค์ทางอื่นแล้วเราจะรอดรึครับแฮ่ๆ 😛 ( สนใจลองดูยอดการรับบริจาคพรรคการเมืองในเดือนธันวาคม 2553 ) และถ้าต้องการคืนภาษีก็ติ๊กที่ช่อง ” มีความประสงค์จะขอคืนภาษี “ ถ้าไม่คืนก็ถือว่าบริจาคให้รัฐเช่นกัน แต่ถ้าคืนเยอะมากเราก็จะถูกตรวจสอบได้ครับ เตรียมเอกสารไว้ให้ครบก็โอเคครับ

ด้านล่างสุดของหน้ายืนยันแบบภาษี ลงมาดูกันด้วยยย เดี๋ยวไม่ได้คืนภาษีเด้อ
ด้านล่างสุดของหน้ายืนยันแบบภาษี ลงมาดูกันด้วยยย เดี๋ยวไม่ได้คืนภาษีเด้อ
พอกดขอคืนภาษีแล้วก็จะมี pop-up ให้ใส่เบอร์โทรศัพท์ดังรูป
พอกดขอคืนภาษีแล้วก็จะมี pop-up ให้ใส่เบอร์โทรศัพท์ดังรูป

พอคลิกบริจาคภาษีต่างๆนานาแล้วคุณก็กดยืนยันครับ และก็จะมีอันนี้เด้งขึ้นมา

กรณีไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม

หน้ายืนยันเรียบร้อย สั่งปริ๊นท์ได้
หน้ายืนยันเรียบร้อย สั่งปริ๊นท์ได้

หน้ายืนยันเรียบร้อย สั่งปริ๊นท์ได้ ถ้าไม่มีเครื่องปริ๊นท์ผมใช้วิธีกดสั่งพิมพ์ แล้วก็อบทั้งหน้าที่มัน generate มาไป Save ไว้ใน gmail วางแล้วเหมือนเดิมเด๊ะเลยครับ

สำหรับผู้ที่ส่งแบบขอคืนภาษีสามารถดูรายละเอียดและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บริการสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด. 90,91

ระวังการหลอกขอคืนภาษีทางโทรศัพท์เพื่อเอาข้อมูลครับ การคืนภาษี สรรพากรจะจ่ายเป็นเช็คเท่านั้นนะ !
เป็นอันจบพิธีกรรมยื่นภาษีสำหรับบุคคลที่ได้รับเงินเดือนครับ แต่สำหรับผู้ที่รายได้เยอะเกิน ก็ดูวิธีชำระภาษีต่อไปได้ด้านล่าง

กรณีที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม

เมื่อกรอกเสร็จแล้ว ในกรณีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ระบบจะขึ้นหน้าจอประมาณนี้ เราสามารถจ่ายทางอินเตอร์เน็ทหรือไปที่ตู้ ATM โดยเอา รหัสควบคุมกับเลขบัตรประชาชนไปชำระได้ครับ

ถ้าต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม หน้าจอนี้จะขึ้นมาและเราสามารถนำตัวเลขควบคุมไปจ่ายที่ตู้ ATM ได้
ถ้าต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม หน้าจอนี้จะขึ้นมาและเราสามารถนำตัวเลขควบคุมไปจ่ายที่ตู้ ATM ได้

ตัวอย่างการจ่ายภาษีที่ตู้ Kbank

1 เลือกเมนู ชำระเงิน/ชำระเงินด้วยบาร์โค้ด
1 เลือกเมนู ชำระเงิน/ชำระเงินด้วยบาร์โค้ด
 2 เลือก สาธารณูปโภค แล้วค่อยเลือก ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. เลือก สาธารณูปโภค/ภาษี แล้วค่อยเลือก ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การจ่ายภาษีที่ตู้ SCB

1 เลือกเติมเงิน/ชำระเงิน/บาร์โค้ด
1 เลือกเติมเงิน/ชำระเงิน/บาร์โค้ด
2 เลือกชำระเงิน แล้วเลือก กรมสรรพากร
2 เลือกชำระเงิน แล้วค่อยเลือก กรมสรรพากร

ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร
โทรศัพท์ : 1161 ( ถ้าโทรติดนะครับ )
และวันนี้มีสรรพากรพื้นที่ 17 มา RT ด้วย ลองติดต่อได้ที่ @rdbkk17

บทความ ไทยเสียภาษีแค่ 2.3 ล้านคน รายได้คนจนสุดต่ำกว่าคนรวยสุดถึง 12.81

น่ารู้เกี่ยวกับภาษีเงืนได้บุคคลธรรมดา

ขั้นของรายได้และการจ่ายภาษี

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อได้ยอดเงินได้สุทธิแล้ว นำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษี ดังนี้

ภาพตารางการเสียภาษี

ตารางคร่าวๆแบบง่ายๆ

ตารางภาษี อัพเดทใหม่จากนโยบายรัฐ 2555
ตารางภาษี อัพเดทใหม่จากนโยบายรัฐ 2555

เทียบอัตราส่วนภาษีที่ต้องจ่ายต่อเงินเดือน

อัตราภาษีก้าวหน้าที่ต้องจ่ายต่อเงินเดือน
อัตราภาษีก้าวหน้าที่ต้องจ่ายต่อเงินเดือน

การขอผ่อนชำระภาษี

การขอผ่อนชำระภาษีเป็น 3 งวด ตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีภาษีที่ต้องชำระมีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้เสียภาษีจะขอชำระเป็น 3 งวด ๆ ละ เท่า ๆ กัน
งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับยื่นแบบ ภายในวันที่ 31 มีนาคม??.
งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 30 เมษายน??..
งวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม???..
ในกรณีทีมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนด ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะผ่อนชำระต่อไป
และต้องชำระภาษีที่ยังไม่ได้ชำระพร้อมเงินเพิ่มด้วย

คำเตือน
ถ้าไม่ชำระภาษีภายในเดือนมีนาคม(สำหรับแบบ ภ.ง.ด.90,ภ.ง.ด.91) หรือ
เดือนกันยายน (สำหรับแบบ ภ.ง.ด.94) จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
(เศษของเดือน ให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระและต้องระวางโทษเปรียบเทียบปรับ
กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 2,000 บาท

ช่วงโฆษณา

🙂
วงดนตรี งานแต่งงาน

หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ โปรดให้กำลังใจด้วยการกด Like ที่หน้า facebook page ผมนะครับ 🙂
follow @ipattt
follow @ipattt