กองทุนรวม ตอนที่ 2

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันการลงทุนในกองทุนรวมกำลังเป็นที่นิยมของผู้ลงทุนที่สนใจการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวมก็คือ ผู้ลงทุนไม่ต้องใช้เวลาติดตามข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนมากเท่ากับการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ๆ ด้วยตัวเอง เพราะเงินที่ถูกใส่เข้าไปในกองทุนรวมจะถูกนำไปบริหารโดยมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุน

ในปัจจุบัน กองทุนรวมมีอยู่มากมายหลากหลายประเภทตามนโยบายการลงทุนประเภทต่าง ๆ อย่าลืมว่ากองทุนรวมแต่ละประเภทมีลักษณะเด่นไม่เหมือนกัน ดังนั้น คุณควรสนใจหาความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวมกันอีกสักนิด…คุณจะได้พบกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตัวคุณเองได้

รู้จักกันหน่อยว่ากองทุนรวมคืออะไร
กองทุนรวมคือกองทรัพย์สินที่มาจากเงินของผู้ลงทุนตั้งแต่ 35 รายขึ้นไป* รวมกันจนมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ให้ทราบในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนกันตั้งแต่ก่อนลงทุน
กองทุนรวมจะถูกบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ ?บลจ.? ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม โดยคุณสามารถวางใจได้ว่า บลจ.นั้นได้ผ่านการพิจารณาจาก ก.ล.ต. ทั้งในด้านความพร้อมของระบบงานในการประกอบธุรกิจและด้านบุคลากรว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดการกองทุนรวม
เนื่องจากกองทุนรวมเป็นกองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก ดังนั้น เพื่อให้มีกลไกในการปกป้องกองทรัพย์สินดังกล่าวและเกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการเงินของ บลจ. จึงมีการนำทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวมไปฝากไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สิน ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บรักษาและดูแลการเบิกจ่ายเงินและทรัพย์สินต่างๆ ให้กับกองทุนรวม นอกจากนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าเงินลงทุนของคุณจะได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลให้ บลจ.บริหารจัดการเงินลงทุนของคุณให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
และโดยที่กองทุนรวมไม่ใช่หน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นผลประโยชน์ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน จึงไม่ต้องนำมาเสียภาษี อย่างไรก็ดี สำหรับผลประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวม เช่น เงินปันผลจากกองทุนรวม จะต้องนำมาเสียภาษีด้วย คุณสามารถทำความเข้าใจเรื่องภาษีก่อนลงทุนในกองทุนรวมได้ที่ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนรวม

*ยกเว้นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบันมีมูลค่า 50 ล้านบาทและมีผู้ลงทุน 10 รายขึ้นไป และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่า 500 ล้านบาทและมีผู้ลงทุน 250 รายขึ้นไป

ซื้อกองทุนรวมต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร
ในปัจจุบันกองทุนรวมมีให้เลือกมากกว่า 700 กอง ทั้งที่มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันและใกล้เคียงกัน ดังนั้น ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการพิจารณาเลือกกองทุนรวมก็คือ การเปรียบเทียบอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกองทุนรวม
ลองมาดูกันดีกว่าว่าค่าใช้จ่ายที่ว่านั้นมีกี่ประเภท และแตกต่างกันอย่างไร โดยขอแยกเป็น 2 แบบ ดังนี้
แบบแรกคือ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บโดยตรงจากผู้ลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน (front-end fee) และ ค่าธรรมเนียมการขายคืนหน่วยลงทุน (back-end fee) เป็นต้น
แบบที่ 2 คือ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ (management fee) ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (trustee fee) เป็นต้น
คุณสามารถพิจารณาค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมแต่ละกอง จากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน ซึ่งได้จัดทำในรูปแบบตารางแสดงค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมเพื่อให้คุณเข้าใจได้โดยง่ายและยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับตารางค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมอื่นได้อีกด้วย

การลงทุนของกองทุนรวม
โดยทั่วไปผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้พิจารณานำเงินของกองทุนไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ได้เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวน เพื่อให้เกิดดอกออกผล โดยการลงทุนอาจมีความแตกต่างกันออกไปทั้งอัตราผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงจากการลงทุน แต่อย่างน้อยคุณควรรู้ว่า กองทุนรวมตราสารทุนจะเน้นนำเงินส่วนใหญ่ไปซื้อหุ้น ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้จะนำเงินลงทุนไปซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้ หรือถ้าเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็จะเป็นการนำเงินไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อนำมาบริหาร เป็นต้น

กองทุนรวมมีกี่ประเภท
เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจกองทุนรวมที่มีอยู่ทั้งหมดได้อย่างชัดเจน ขอแบ่งกองทุนรวมที่มีการเสนอขายกันอยู่ในปัจจุบันออกเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 แบ่งตามการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
คุณจะพบว่า มีกองทุนรวมแบบปิด และแบบเปิด

กองทุนปิด (close-ended fund)
กองทุนแบบปิดคือ กองทุนรวมที่ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการ ซึ่งเป็นผลให้ผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมแบบปิดจะต้องถือหน่วยลงทุนไว้จนครบอายุกองทุนรวม โดยจะไม่สามารถขายคืนให้กับ บลจ. ก่อนครบอายุกองทุนรวมได้ และตลอดอายุของกองทุนรวมประเภทนี้ จำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนปิดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ยกเว้นมูลค่าหน่วยลงทุนซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินที่กองทุนไปลงทุน) ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมแบบปิด คุณควรต้องพิจารณาเรื่องความต้องการใช้เงินในอนาคตของคุณด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มี บลจ. หลายแห่งหาวิธีการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยการนำหน่วยลงทุนของกองทุนปิดไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรืออาจใช้วิธีการแต่งตั้งสถาบันการเงินเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขายและรับซื้อหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุน (market maker) ซึ่งทั้งสองวิธีจะเป็นช่องทางให้ผู้ถือหน่วยของกองทุนรวมแบบปิดสามารถนำหน่วยลงทุนไปขายได้ โดยไม่ต้องถือไว้จนครบอายุกองทุน หากคุณสนใจกองทุนรวมแบบปิดแล้ว อย่าลืมดูข้อมูลในส่วนนี้ให้ดีด้วย

กองทุนเปิด (open-ended fund)
กองทุนรวมแบบเปิดคือ กองทุนรวมที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการ ดังนั้น หากคุณซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแบบเปิดมาได้ระยะหนึ่ง แล้วเห็นว่ามูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มสูงขึ้นจากมูลค่าที่คุณซื้อมา คุณก็สามารถนำหน่วยลงทุนนั้นไปขายคืนให้กับ บลจ. ได้ ตามวันเวลาที่ บลจ. กำหนด (ดูได้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน) หรือในกรณีตรงกันข้าม หากวันใดคุณเห็นว่ากองทุนรวมแบบเปิดที่มีอยู่แล้วมีความน่าสนใจ คุณก็สามารถติดต่อขอซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นได้

ประเภทที่ 2 แบ่งตามลักษณะของผู้ถือหน่วยลงทุน
ถ้ามองตามลักษณะของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทกล่าวคือ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน

กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) หมายถึง กองทุนรวมที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็น
ผู้ลงทุนทั่วไปทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล กองทุนรวมประเภทนี้จะมีการเสนอขายในวงกว้าง รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์การขายหน่วยลงทุนอย่างกว้างขวางเพื่อกระจายข้อมูลการเสนอขายหน่วยลงทุนอย่างแพร่หลาย เช่น ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั่วไป เป็นต้น

กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (non-retail fund) หมายถึง กองทุนรวมที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น โดยไม่มีผู้ลงทุนทั่วไปหรือผู้ลงทุนรายย่อยถือหน่วยลงทุนอยู่เลย ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุน และสามารถดูแลตนเองได้ ภาครัฐจึงมีการผ่อนผันเกณฑ์การกำกับดูแลกองทุนรวมประเภทนี้ในบางเรื่อง เช่น จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนขั้นต่ำในการจัดตั้งกองทุนรวม และไม่จำกัดสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละราย เป็นต้น

ประเภทที่ 3 แบ่งตามนโยบายการลงทุนและประเภททรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุน
การแบ่งประเภทกองทุนรวมแบบนี้ จะเจาะลึกกันไปที่นโยบายการลงทุนและทรัพย์สินที่กองทุนจะไปลงทุน โดยจะพบว่าแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กองทุนรวมทั่วไป และกองทุนรวมพิเศษ

I. กองทุนรวมทั่วไป (general fund)
เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน และ/หรือตราสารแห่งหนี้เป็นหลัก ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ กองทุนรวมตราสารแห่งทุน กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ และกองทุนรวมผสม

II. กองทุนรวมพิเศษ (special fund)
เป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะเฉพาะตัวตามนโยบายและประเภทหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน โดยคุณจะพบว่ากองทุนรวมพิเศษแบ่งออกได้เป็นกองทุนรวมแบบต่าง ๆ อีกมากมายหลายประเภท ได้แก่ กองทุนรวมหน่วยลงทุน กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมมีประกัน กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น กองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน กองทุนรวมดัชนี กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว กองทุนรวมอีทีเอฟ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 2) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 3) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง (กอง 4) ฯลฯ

กองทุนรวมที่เสนอขายเป็นอย่างไร
เป็นที่ทราบแล้วว่ากองทุนรวมมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทหลักข้างต้น แต่ในความเป็นจริงสำหรับกองทุนรวมที่มีการเสนอขายทั่วไป มักจะมีการผสมผสานลักษณะของกองทุนรวมทั้ง 3 ประเภทเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างดังนี้
– กองทุนเปิดตราสารทุนที่เสนอขายแก่ผู้ลงทุนทั่วไป
เป็นการรวมกันของ 1. กองทุนเปิด 2. กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป 3. กองทุนรวมทั่วไป
– กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1)
เป็นการรวมกันของ 1. กองทุนปิด 2. กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป 3. กองทุนรวมพิเศษ
– กองทุนรวมหุ้นระยะยาว
เป็นการรวมกันของ 1. กองทุนปิด 2. กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป 3. กองทุนรวมพิเศษ

หลังจากที่คุณได้ทำความรู้จักกับกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ แล้ว ก่อนคุณจะตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมประเภทใด คุณควรจะศึกษาข้อมูลของกองทุนนั้นจากรายละเอียดโครงการและหนังสือชี้ชวนกองทุนก่อน เพื่อเป็นการสร้างแนวป้องกันให้กับตนเอง

source www.thaimutualfund.com