เบื้องหลังจากคอนเสิร์ต #deeboyd

งาน Pop Fest ของพี่ดี้พี่บอยผ่านพ้นไปพร้อมความประทับใจครับ ส่วนตัวผมเห็นว่างานจัดได้ดี เหมือนเป็น festival สมชื่อมาก คนเดินกันเกือบทั่วเลยทีเดียวครับ ของกินเยอะมากและราคาไม่แพง ข้อเสียที่ผมเห็นก็คือฝุ่นเยอะ เหมือนกับ winter festival ครั้งที่ 1 นั่นเอง แต่ถ้ามีครั้งที่ 2 คาดว่า Organaizer คงจะปลูกหญ้าทำให้ไม่ค่อยมีฝุ่นเหมือน winter festival ปีที่ 2

ในด้านการลงทุนด้านเสียงนั้นถือได้ว่า สุดยอดเลยทีเดียวครับ คือยังไม่เห็นเวทีคอนเสิร์ตไหนจะมีเครื่องเสียงที่ทันสมัยและอลังการขนาดนี้ พิสูจน์ได้จากลำโพง Nexo ราคาแพงระยับที่ห้อยทำมุมด้วยระบบ Line Array จำนวน 21 ตัวต่อหนึ่งข้าง (มี 2 ข้าง) และยังมี Line Array สำหรับ fill งานสำหรับคนดูด้านหลังทีอยู่ไกลๆอีก 8 ตัวซึ่งได้ทำการคำนวนระยะเวลาดีเลย์ของการเดินทางของเสียงจากหน้าเวทีเรียบร้อยแล้ว ( คุณตุลย์ ซาวเอนจ์เล่าว่า เวทีงาน Fat นั้นใช้ Nexo รุ่นนี้เช่นกันแต่มีเพียงข้างละ 4 ตัวก็สนั่นแล้ว)

ลำโพง NEXO ที่จัดว่าแพงระยับตัวละหลักแสน ห้อยอยู่ข้างละ 21 ตัว !
ลำโพง NEXO ที่จัดว่าแพงระยับตัวละหลักแสน ห้อยอยู่ข้างละ 21 ตัว !

ปกติหน้าที่เกี่ยวกับด้านโชว์จะมีผู้รับผิดชอบหลักๆดังนี้ครับ

1.Technician

เป็นผู้ที่ดูแลนักดนตรีในส่วนของความต้องการด้านเสียง ติดตั้งอุปกรณ์ด้านภาคขยายเสียงสำหรับนักดนตรีและเครื่องดนตรี และแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารวมทั้งสื่อสารระหว่างนักดนตรีกับผู้ควบคุมเสียงมอนิเตอร์ ช่วยนักดนตรีในการทำ Sound Check และ Mark ตำแหน่งอุปกรณ์พร้อมทั้งมุมของ Volume และปุ่มควบคุมของอุปกรณ์ของนักดนตรี ตำแหน่งนี้ปัจจุบันเป็นตำแหน่งที่ขาดแคลนที่สุดครับ

2. Stage Manager

ผู้รับผิดชอบด้านเวทีทั้งหมด ดูแลไม่ให้เกิดความผิดพลาดระหว่างการแสดงของอุปกรณ์ต่างๆ ตัดสินใจในการแก้ปัญหาของอุปกรณ์ต่างๆ

3. Show Manager

ผู้ควบคุมการโชว์ให้ Run ได้เรียบร้อยตามสคริปที่วางไว้ โดยมากมักจะประจำอยู่ตรงแอเรียที่ Control Board เพื่อดูภาพรวมและใช้ Intercom เพื่อสั่งงานคนอื่นๆทั้งด้านเสียงและแสง โดยเฉพาะ back Stage

4. Back Stage

เป็นผู้ปล่อยคิวนักดนตรีและศิลปินตามคำสั่งของ Show Manager ทำการติดตาม ศิลปินและนักดนตรีให้มา Stand By ก่อนเวลาด้านหลังทางขึ้น ทำการแจกไมค์โครโฟนที่มี Preset เฉพาะของแต่ละคน (ตั้งแต่ Sound Check)ให้กับนักร้องและศิลปินแต่ละคนก่อนขึ้นเวที

5. Lighting Director

ผู้ควบคุมระบบแสงทั้งหมด โดยจัดทำโปรแกรมแสงและดูคิวของเพลงให้ชัดเจนเพื่อที่จะส่องไฟได้ถูกตำแหน่ง ทำงานประสานกับ Show Manager เพื่อเตรียมปล่อยแสงให้ตรงจังหวะนักดนตรีขึ้นมา ต้องมีความเข้าใจเพลงทุกเพลงที่จะแสดงเพิ่อเปิดไฟได้เหมาะสม

6 Live Sound Engineer

Sound Engineer ที่มีความเชียวชาญในการทำเสียง Live โดยเฉพาะ ปรับเสียงให้เหมาะกับคาร์แร็คเตอร์ของงานและต้องรู้จักบุคลิกของลำโพงเป็นอย่างดี สำหรับงานใหญ่ที่มีศิลปินหลายสิบคนและวงหลายวงนั้นจะต้อง Mark ตำแหน่งการการปรับค่าต่างๆใว้ในขณะ Sound Check ตำแหน่งนี้ต้องใช้ผู้เชียวชาญและมีความรู้สูงมากครับ

เทคนิคด้านลำโพง

ปกติการขยายเสียงในงานจะประกอบด้วย 3 ระบบเสียงคือ แอมป์/ลำโพงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด,ลำโพงมอนิเตอร์ สำหรับให้นักดนตรี/นักร้องฟังบนเวที/ลำโพง PA สำหรับปล่อยเสียงให้คนดูได้ยิน

ลำโพง PA

สำหรับการวางลำโพง PA ในคอนเสิร์ตนี้จะใช้วิธีใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพที่นั่งของผู้ชมทั้งหมด และป้อนว่าเป็น Indoor หรือ Out Door จากนั้นระบบจะคำนวนมุมในการแขวนลำโพงและการวางตำแหน่งเพื่อให้ทุกคนได้ยินเสียงได้ชัดเจน และคำนวนวิธีการวางตู้เบสให้ไม่เกิดอาการเบสขึ้นมาตีรบกวนบนเวทีอีกด้วย

Sub NEXO รุ่น TOP เห็นราคาแล้วจะหนาว มีข้างละ 6 ตัวรวมแล้วสองด้านโหลนึงพอดีครับ
Sub NEXO รุ่น TOP เห็นราคาแล้วจะหนาว มีข้างละ 6 ตัวรวมแล้วสองด้านโหลนึงพอดีครับ

ลำโพง มอนิเตอร์

ลำโพงมอนิเตอร์ คือลำโพงที่จัดเพื่อให้นักดนตรีแต่ละคนฟัง นักดนตรีแต่ละคนจะสามารถเลือกได้ว่าตนเองต้องการเสียงเครื่องดนตรีชิ้นไหนในวงดังแค่ไหนได้ เช่นคนที่อยู่ใกล้กลองอยู่แล้วอาจจะไม่เอาเสียงกลองแต่อยากได้เสียงเบสหรือเสียงนักร้องดังขึ้นก็สามารถบอก Technician ที่ประกบอยู่ในช่วงซาวส์เช็คได้ครับ นอกจากนั้นถ้า Control Board (Mixer ใหญ่) อย่างในงานนี้ราคาระดับสามล้านบาท สองตัว ซาวส์เอนจิเนียร์สามารถเซ็ทให้ Board จำ Preset ประจำนักดนตรีแต่ละคนและแต่ละวงได้ และยังปรับเสียงแหลมเสียงเบสของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดได้ตามแต่ตำแหน่งนักดนตรีแต่ละคนด้วย เช่นผมซึ่งเป็นมือคีย์บอร์ดอยากได้ยิงเสียงสูงๆ( Air ) ของนักร้องก็สามารถร้องขอให้เฉพาะตำแหน่งผมปรับเสียงนักร้องให้แหลมขึ้นได้

Monitor ก็ยังใช้ Nexo แพงระยับเช่นกัน เสียงชัดจับใจไม่หนวกหู จากภาพเป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่ปรับเสียงมาโดยเฉพาะสำหรับพี่ บี มือซินท์ของอีทีซี ดังนั้นจึงมีการมาร์คไว้ป้องกันคนขยับเปลี่ยนตำแหน่งเวลาโชว์จริง
Monitor ก็ยังใช้ Nexo แพงระยับเช่นกัน เสียงชัดจับใจไม่หนวกหูครับ จากภาพเป็นมอนิเตอร์ปรับเสียงมาโดยเฉพาะสำหรับพี่ บี มือซินท์ของอีทีซี ดังนั้นจึงมีการมาร์คไว้ป้องกันคนขยับตำแหน่งเวลาโชว์จริง

ด้านคนทำเสียง

ขณะที่นักดนตรีแต่ละวงทำการ Sound Check จะมี Technician ยืนประกบหนึ่งต่อหนึ่งเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของนักดนตรีแต่ละคน สำหรับ Stage Manager จะมีระบบ intercom (หูฟังขนาดใหญ่สีเทาๆที่มีข้างเดียวในภาพ) ซึ่งมีความแน่นอนกว่า ว. อยู่ที่หูด้วยครับ

Technician ยืนประกบนักดนตรี
Technician ยืนประกบนักดนตรี

พี่นพซึ่งเป็น Music Director ในช่วง บอยนพ โชว์กำลังนั่งเครียดเพราะเวลา Sound Check เริ่มเลท ซาวส์ตั้งแต่ แปดโมงเช้ายันบ่ายสี่อันเป็นเวลาเริ่มเล่นกันเลยทีเดียว

พี่นพนั่งพักที่นั่งของมือคีย์บอร์ด
พี่นพนั่งพักที่นั่งของมือคีย์บอร์ด

ด้านข้างเวทีมีมิกเซอร์ Sub ขนาดใหญ่ซึ่งใช้บริการมิกเสียง Support นักดนตรี/นักร้องบนเวทีโดยเฉพาะพร้อมกระจายสัญญาณสู่ระบบ Monitor ย่อย และ Support Control Board ด้านล่าง ที่เห็นเป็นเสาหัวแบนๆคล้ายๆปลากระเบน 4 อันนั่นคือเสาอากาศรับ ไมค์โครโฟน WireLess ของ Shure ครับ

Sub Mixer ขนาดใหญ่ข้างเวที ด้านหลังเป็นแอมป์ขับลำโพง Line Array และ Sub-Woofer
Sub Mixer ขนาดใหญ่ข้างเวที ด้านหลังเป็นแอมป์ขับลำโพง Line Array และ Sub-Woofer

แทนที่จะใช้ตู้แอมป์คีย์บอร์ดก็เปลี่ยนให้ไฮโซขึ้นด้วยลำโพง Nexo รุ่นเล็กแต่เสียงดีพร้อม Sub-Mix และแอมปลิไฟล์ ทำให้มือคีย์บอร์ดฟังแล้วได้ความรู้สึกเป็นสเตอรีโอเพราะพริ้ง อารมณ์ดี (ถ้าเสียงบนเวทีดี นักดนตรีจะมั่นใจมากขึ้นและอารมณ์ดี จึงเล่นออกมาดีครับ)

ชุดขยายเสียงคีย์บอร์ดแบบไฮโซ
ชุดขยายเสียงคีย์บอร์ดแบบไฮโซ

มือกลองเป็นตำแหน่งที่เสียงจากการตีกลองดังอยู่แล้ว ดังนั้นลำโพงมอนิเตอร์ต้องทรงพลังพอมิเช่นนั้นมือกลองจะไม่ได้ยินเสียงนักร้องและเครื่องดนตรีชนิดอื่น ทางเวทีลงทุนทำมอนิเตอร์พร้อม Sub-Woofer ให้พิเศษ เรียกว่าถ้านำมอนิเตอร์ชุดนี้ไปใช้ข้างนอกสามารถเปิดผับขนาดย่อมๆได้เลยครับ และมอนิเตอร์กลองก็ต้องตั้งให้ Balance กับเสียงเบสด้วยเช่นกัน

มอนิเตอร์ของมือกลอง ใช้ลำโพง Nexo กับ Sub เรียกว่าถ้าอยู่ข้างนอกเปิดผับย่อมๆได้
มอนิเตอร์ของมือกลอง ใช้ลำโพง Nexo กับ Sub เรียกว่าถ้าอยู่ข้างนอกเปิดผับย่อมๆได้

ทีนี้ก็มาถึง Control Board ตรงกลางด้านหน้า ห่างเวทีระยะหนึ่งครับ ตรงนี้จะเป็นจุดควบคุมเสียงให้ผู้ฟังฟังในดังนั้น Mixer จึงต้องอยู่ในตำแหน่งเดียวกับคนดู ส่วนใหญ่คนดูที่อยู่ใกล้ Control Board จะได้ยินเสียงดีครับเพราะเป็นเสียงที่ Live Sound Engineer ต้องการนั่นเอง

Control Board เป็น Mixer ขนาดใหญ่ 2 ตัวราคาตัวละ 3 ล้านบาท
Control Board เป็น Mixer ขนาดใหญ่ 2 ตัวราคาตัวละ 3 ล้านบาท

Sound Engineer ของช่วง Boyd-Nop และ Dance-Lipta เป็นคุณตุลล์ (ใส่แว่น) แห่ง Patid.com นี่เองครับ ส่วนด้านข้างคือคุณชัช 7-Scene

Sound Engineer ทำงานอยู่ในคอก Control Board ห่างเวทีระยะหนึ่ง
Sound Engineer ทำงานอยู่ในคอก Control Board ห่างเวทีระยะหนึ่ง

บรรยากาศบนเวที Light Director มีบทบาทในการสร้างอารมณ์มากครับ จะเห็นว่ามีจออยู่ด้านล่าง อันนั้นไว้ฉายเนื้อร้องกันนักร้องลืม แต่ไปๆมาๆ เพลงเมดเล่ย์เยอะมาก เนื้อร้องออกมาไม่ถูกเลยกลายเป็นสร้างปัญหาซะเอง

บรรยากาศ มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า คนๆนั้นจะมองไม่ค่อยเห็นอะไรเลย
บรรยากาศ มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า คนที่อยู่บนเวทีนั้นจะมองไม่ค่อยเห็นอะไรเลย

เนื่องจากมีศิลปินมาหลายวง แต่ทางพี่บอยไม่ต้องการให้มี Dead Air ( ช่วงเวลาเงียบจากการเปลี่ยนวงเพื่อเซ็ทเครื่อง ) มากเกินไป เวทีจึงแบ่งเป็น 2 ด้านและมีเครื่องดนตรีพร้อมตู้แอมป์ทุกอย่าง x 2 ชุดหมดเลยครับ จากภาพจะเห็นว่าวง The Begin กำลังเล่นในด้านซ้ายมือของเวที(ด้านที่เห็นไกลๆ)อยู่ มือกลองกำลังตีกลองชุดที่อยู่ไกลอยู่เช่นกัน แต่จะพบว่า Technician และนักดนตรี(มือกลอง)เริ่มมาเซ็ทเครื่องสำหรับวงต่อไปแล้วครับในด้านขวาของเวที( 3 คนที่อยู่ใกล้)

ในขณะที่ศิลปินเล่นอยู่ด้านหนึ่ง อีกด้าน Technician และนักดนตรีทีมต่อไปสามารถเข้ามาเซ็ทได้
ในขณะที่ศิลปินเล่นอยู่ด้านหนึ่ง อีกด้าน Technician และนักดนตรีทีมต่อไปสามารถเข้ามาเซ็ทได้