นั่งคุยด้านธุรกิจ IT กับ @pawoot แห่ง tarad.com

@pawoot พี่ภาวุธ หรือพี่ป้อมของเรา
@pawoot

วันก่อนมีีโอกาสได้ไปนั่งคุยกับ @pawoot เพราะว่า @pongrat กับ @jetboat26 tweet ว่ามีไปกินกาแฟแถวโชคชัย 4 พอมีคนน้อยเลยได้คุยกับพี่เค้ามากมายครับ 😀 สรุปเฉพาะด้านธุรกิจ IT ก็คือ

1. เริ่มต้นธุรกิจ

ก่อนจะมาถึงวันนี้ ไม่ได้มาง่ายๆ พี่เค้าทำกิจการในช่วงแรกนั้นเจ๊งตลอดเป็นเวลายาวนานหลายปี (นานกว่า TiGERiDEA แน่นอน) โดยเริ่มจากการทำ thaisecondhand ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีท้ายๆเมื่อสิบกว่าปีก่อน (พี่เค้ารหัส 36 ถ้าจำไม่ผิด) และก็มีการทำหนังสือซึ่งขายดีแต่เจ๊งเพราะไม่มีกลยุทธ์ในการหาโฆษณา

2.กำหนดเป้าหมายธุรกิจ

การทำธุรกิจของพี่เค้ากำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนมาก มีช่วงนึงกำหนดไว้ว่า”ต้องมีผู้สนใจมาลงทุนหรือมาซื้อธุรกิจตัวเอง”ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสาเหตทำให้พี่เค้าเตรียมเอกสารต่างๆไว้เรียบร้อยมากและมี Presentation ที่น่าสนใจ พอมีการ archive goal ช่วงหนึ่งเลยหมดไฟเล็กน้อยต้องออกไปทำที่กลุ่มชินอยู่พักหนึ่งก่อนกลับมาเริ่มใหม่ ( ช่วงนี้พี่เค้าเล่าด้วยว่าจำ @warong ได้แม่นยำเพราะความสามารถและบุคคลิกอันโดดเด่น )

3.การซื้อหุ้นของ Rakuten

ที่ Rakuten ซื้อหุ้นนั้นมีปัจจัยหลายส่วน ส่วนแรกคือ 1.โมเดลการตลาดที่เหมือนกันมากๆ และส่วนที่ 2 เป็นผลพลอยได้จากความพยายามในการวางแผนเข้าตลาดหุ้นตามที่พี่เค้าเคยประกาศต่อหน้านักข่าวไป ทำให้เอกสารและระบบบัญชีของ tarad.com นั้นเคลียร์และดูง่าย การเข้าซื้อหุ้นและการตีมูลค่าบริษัทจึงทำให้ง่าย ทำให้ rakuten ง่ายต่อการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตกับ tarad ด้วย 3.คือ Rakuten ต้องการสยายปีกไปทั่วเอเชียนั่นเองจึงได้ลิสต์บริษัท e-commerce ต่างๆขึ้นมาและในไทยไม่พ้น tarad.com

พี่ภาวุธ (พี่ป้อม)เล่าว่า ผู้บริหาร Rakuten วันหนึ่งเดินเข้ามาในออฟฟิศของ tarad และสวัสดีพร้อมโค้งคำนับเสียงดังสนั่นสไตล์ญี่ปุ่น จากนั้นมีการคุยกันหลายครั้งรวมทั้งพี่ภาวุธก็บินไปคุยที่ญี่ปุ่นด้วยเช่นกันจนเกิดดีลนี้ขึ้นได้ ในส่วนของการตีมูลค่าบริษัทนั้นตลอดเวลาที่ทำธุรกิจมาเคยถูกตีไปแล้วหลายครั้งรวมทั้งมีบริษัทระดับ PricewaterhouseCooper มาทำในช่วงแรกๆด้วย พี่เค้าเล่าว่าบริษัทพวกนี้วิจารณ์เราซะไม่มีชิ้นดี

4.ธุรกิจแม้เป็นด้าน IT ก็ต้องมีจุดเด่นที่ชัดเจนสำหรับคนทั่วไป

พี่ป้อมบอกประเด็นทางการตลาดก็คือธุรกิจของเราต้องมีจุดเด่นที่ชัดเจนและเป็นจุดเด่นที่สังคมรับรู้ด้วยโดยควรจะ contribute สู่สังคมเพื่อให้่คนรู้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็น e-commerce ก็เป็น tarad, ผู้รอบรู้และกว้างขวางเรื่อง internet คือ Kapook @iwhale ,ผู้เชียวชาญทาง development project และเว็บด้านสังคมคือ opendream , ผู้เชียวชาญด้าน opensource คือ Marvelic @joomlacorner สำหรับ TiGERiDEA ที่มีจุดเด่นด้าน Design และ WordPress นั้น พี่ป้อมให้ความเห็นว่า ด้านดีไซน์เป็นเรื่องที่จับต้องและคุยกันได้ยากไม่เหมาะที่จะเป็นจุดแข็ง (คือสังคมยากที่จะคุยเรื่องนี้) ในขณะที่ด้าน WordPress นั้นใช้ได้ และต้องวางแผนในการมุ่งไปสู่ความเชี่ยวชาญอย่างชัดเจนจึงจะดียิ่งกว่านี้

5. มุ่งทำ Product มากกว่าทำ Project

พี่ป้อมอยากให้ Web Developer ไทยมุ่งทำงานที่เป็น Product มากกว่า Project base (ซึ่งสอดคล้องกับที่พวกเราคุยกัน) พอเรามีโปรดักซ์แล้วสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือเซลล์ธรรมดาๆเท่านั้นครับ การทำงานแบบ Project นั้นต้องต่อสู้หลายอย่างไปเรื่อยๆและมีความไม่แน่นอนสูง ในส่วนนี้ผมเองเห็นด้วยเช่นกันจึงแบ่ง function การทำงานของ TiGERiDEA โดยให้ @iMenn เป็น New Product Developement ร่วมกับ @warong อยู่ครับ เป็นที่มาของโครงการ vaivaisoft ส่วนผมอาสาดูแล TiGER เต็มตัวอยู่ อย่างไรก็ตามพี่ป้อมได้คอมเม้นท์ว่าโปรดักซ์ก็ควรจะ unique และมีภาพลักษณ์ชัดเจนอย่าทำอะไรที่ทุ่มเทเอามันโดยไม่หวังผลทางการตลาด (เด็กวิทย์คอมพ์มักเป็นเช่นนี้) อย่างเช่นการขาย Theme นั้นเป็นโปรดักซ์ที่จัดว่าไม่ยั่งยืนและแข่งขันกันในอนาคตรุนแรง ผมจึงคิดถึงบริษัท longkong studio ที่ทำ software บัญชีเพื่อธุรกิจก่อสร้างโดยเฉพาะของรุ่นน้องวิศวะกลุ่มหนึ่งที่เวิร์คเช่นกัน

ในส่วนนี้ผมเองมี discuss กับพี่ป้อมเช่นกันว่า บริษัทที่จะทำงานด้าน Project Base เพียงปรับองค์กรให้เล็กที่สุด ก็ยังสามารถที่จะทำธุรกิจนี้ได้สบายเช่นกันนะครับ ( ไม่เปลือง buffer ความเสี่ยง )

6. อย่าเลี่ยงการบริหารองค์กรแบบ Classic

บริษัทต้องกำหนดเป้าหมายและวางแผนเพื่อที่จะไปให้ถึง ในประเด็นนี้พวกเรา TiGER ทำงานกันแบบบริษัทขนาดเล็กอาจทำให้เฉยชาต่อศาสตร์ด้านการบริหารองค์กรเกินไปก็ได้ครับ เพราะว่าสเกลการบริหารระหว่าง 5 คน กับ 20 กว่าคนนั้นต่างกันมากๆ ยิ่งคนเยอะสิ่งที่เราจะต้องเสียเวลามากขึ้นคือการ Tracking resource นั่นเอง ( ลองดูโพสเรื่อง ข้อดีของบริษัทขนาดเล็ก และสไลด์พี่ป้อมด้านล่าง ) อย่างไรก็ตามในหัวข้อนี้ผมมีการ discuss เรื่องแนวคิดกับพี่ป้อมพอสมควร เพราะผม(และ @imenn) มองทิศทางตนเองสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นปัจเจกโดยมีบริษัทเป็นองค์ประกอบ หรืออาจไม่มีบริษัทก็ได้ (ไม่ได้เน้นการขยายอาณาจักร) แต่พี่ป้อมให้เหตุผลว่า การมีบริษัทที่มั่นคงนั้นส่งผลดีไปถึงชีวิตของเราจะมั่นคงโดยปล่อยให้คนอื่นบริหารและเรามีอิสระทางเวลา เวลาเราไม่สบายก็ยังมีรายได้ Support ส่วนรุ่นลูกของเราก็จะมั่นคงด้วย ซึ่งผมก็ได้ discuss แบบส่วนตัวว่าคุณค่าของชีวิตรุ่นลูกเรานั้นอยู่ที่เค้าได้สร้างตัวขึ้นมาจากศูนย์เช่นกันครับ (อาจจะเป็นเพราะทั้งเม่นและผมนั้นสร้างบริษัทจากการที่แทบไม่มีผู้สนับสนุนและเงินทุนเลยก็ว่าได้) เรื่องนี้ถ้า เม่นได้คุยกับพี่ป้อมผมว่าคงสนุก 😀

slide บรรยายด้านธุรกิจ ของพี่ภาวุธ ในงาน Barcamp

พี่ป้อมชอบพูดว่าตัวเองโชคดี เช่นการทำ tarad ก็มี technology curve และ Infrastructure ที่มาสอดรับพอดีกับเว็บในวงการ e-commerce ไทย หรือการทำงานเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง แต่กลับได้ผลที่ไม่ได้คาดหมายหลายอย่างมาพอดี ส่วนตัวผมคิดว่า โชคดีนั้นลอยมาอยู่แล้วใกล้ๆตัวทุกวันนะครับ คนที่จับจ้องอยู่อย่างพี่ป้อมต่างหากถึงจะมีสิทธิในการได้มันไป ( @phichai เสริมว่า ต้อง ใจถึงและมือถึง ประกอบด้วย)

ขอบคุณพี่ป้อมภาวุธอีกครั้งครับ คุยกับพี่แล้วได้แรงบันดาลใจหลายอย่าง หวังว่าคงได้เสวนากันอีกในเวลาอันใกล้นะครับ 🙂

โพสที่เกี่ยวข้อง
rakuten ซื้อ tarad /@pawoot ภาวุธ กับตำนานที่2วงการเว็บไทยต่อจากปรเมศวร์

ปล. ทางวง #iHear ให้ความเห็นว่า เมื่อวานที่ #wawee @pawoot ร้องเพลงอินเดียได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก… ควรแก้ตัวร้องใหม่อีกครั้งถ้าคราวนี้ยังจำเนื้อไม่ได้ทางวงจะพิจารณาสมาชิกคนล่าสุดนี้เป็นกรณีพิเศษครับ 555 😛